> SET > eco

17 มีนาคม 2020 เวลา 07:45 น.

โลกหั่นดอกเบี้ยติดดิน ส่องหุ้นน่าซื้อช่วงระส่ำ

ทันหุ้น-ทั่วโลกแห่ลดดอกเบี้ยสุดต่ำหลัง เฟดเซอร์ไพร์สกดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 1% เหลือ 0-0.25% กสิกรฯเชื่อไทยคัดดอกเบี้ยลงอีกรวดเดียว 0.50% เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี นักวิเคราะห์ชี้จุดรับ 970 จุด ร้านสุด 760 จุด เปิดโผหุ้นน่าซื้อช่วงระส่ำ BAMรับตรงดอกเบี้ยลง CPALL , BJC , ADVANC , INTUCH  BGRIM , GPSC , GULF, CPF , TU  น่าสน


หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างเซอร์ไพร์สประชุมฉุกเฉิน ลดดอกเบี้ยลง 1%จาก 1.00-1.25% เหลือ 0-0.25%ให้เงินกู้ฉุกเฉินกับสถาบันการเงินดอกเบี้ย 0.25%พร้อมลดอัตราการกันสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์เหลือ 0%พร้อมกับประกาศอัดเม็ดเงิน (QE) วงเงิน 7แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศเร่งประชุมฉุกเฉินดำเนินนโยบายผ่อนคลายตามทันที ฮ่องกง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.64% จากระดับ 1.50%ลงมาที่ 0.86% เกาหลีใต้ ลดดอกเบี้ย 0.5%สู่ 0.75% นิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย 0.75%สู่ระดับ 0.25% ส่วนญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ย -0.1% แต่ฉีดเงินผ่านการซื้อพันธบัตรอีก 2ล้านล้านเยน


ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกกลับช็อคร่วงแรงจากความกังวลภาวะการลุกลามของโควิด-19เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปิดที่ 1,046.08จุด ลดลง 82.83 จุด หรือ -7.34%มูลค่าการซื้อขาย 68,179.26 ล้านบาท กลุ่มพลังงานกดดันถึง 19.25 จุด ตามด้วยกลุ่มขนส่ง ที่กดดัน 12.31 จุด


@ลุ้นไทยลดดบ.0.50%


ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มที่ของเฟดจะกดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน และทำให้มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% 25 มีนาคมนี้ จากเดิมที่มองว่าลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคมและพฤษภาคมครั้งละ 0.25%


ด้าน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง ราว 0.25%จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปี 2563มีแนวโน้มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ประเมินอยู่ที่ -0.2%ทำให้ความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดสูงขึ้น


ทั้งนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า ช่วยลดภาระหนี้และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหา แต่จาก policy space ด้านดอกเบี้ยที่มีจำกัด ภาครัฐต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมช่วยด้วย EIC ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เป็นหดตัวที่ -0.3%จากประมาณการเดิมที่ 1.8%และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด technical recession ในช่วงครึ่งแรกของปี


@ โผหุ้นซื้อช่วงปรับฐาน


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การที่ เฟด มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 2ติดต่อกัน พร้อมประกาศ QE 7 แสนล้านดอลลาร์ เชื่อว่าจะช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินทั่วโลกได้และจะช่วยประคองราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงถัดไปได้เป็นอย่างดี โดยอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ 0-0.25%ถือเป็นระดับเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ส่วนการประกาศ QE นับการฉีดเงินอย่างมีนัยสำคัญครั้งแรก นับตั้งแต่เฟดยุติการลดขนาดงบดุลไปเมื่อช่วงสิงหาคมปีก่อน


นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนหากรับความเสี่ยงและความผันผวนต่ำแนะนำชะลอลงทุน ส่วนนักลงทุนที่ยังมีสภาพคล่องและรับความเสี่ยงได้แนะนำเลือกซื้อในจังหวะที่ดัชนีปรับตัวลงมาแรง โดยประเมินไว้ 2 ระดับ กล่าวคือ 1) ระดับดัชนี 970 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE ที่ -1SD จากค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549ซึ่งอยู่ที่ 10.7 เท่า และ 2) ระดับ 760 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE ที่ -2SD จากค่าเฉลี่ย และยังเป็นระดับที่เทียบเท่าการปรับฐานของ SET ในช่วง Lehman crisis ที่ 57% รวมถึงเป็นระดับที่มีค่า PBV เท่ากับจุดต่ำสุดในช่วง Lehman crisis ที่ 0.8 เท่าอีกด้วย


สำหรับให้นักลงทุนหาจังหวะการเข้าซื้อในช่วงที่ตลาดปรับฐาน ได้แก่ หุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของกองทุน SSF รูปแบบใหม่ที่จะออกมาในเดือนเมษายนนี้ คือ 1) กลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น CPALL , BJC เพราะจะได้ผลดีจากการกักตุนสินค้าของประชาชน โดยที่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาด้านการจัดหาซัพพลายเออร์ หรือต้นทุนโลจิสติกส์แต่อย่างใด และยังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงถัดไปจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศอีกด้วย 2) กลุ่มสื่อสารที่มีเงินปันผลสูง เช่น ADVANC , INTUCH 3) กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ราคาปรับลงมาลึก เช่น BGRIM , GPSC , GULF , EGCO, RATCH


4) กลุ่มไฟแนนซ์ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยเน้นไปที่ธุรกิจ AMC เช่น BAM 5) กลุ่มอาหารที่เห็นการฟื้นตัวของกำไร เช่น CPF , TU ส่วนการลงทุนทองคำแนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนจากเดิม 5%เป็น 10% ของพอร์ตการลงทุนรวม เพราะการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ทองคำน่าสนใจในมิติของการเก็บสะสมมูลค่า และจากการที่หลายประเทศหันมาใช้นโยบายการเงินที่ Aggressive คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางหลายๆประเทศมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองทองคำเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทนสกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X