> Trendtalk > SJWD

10 เมษายน 2024 เวลา 06:40 น.

TrendTalk : เจาะ SJWD

#SJWD #ทันหุ้น – ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดสัญญาณฟื้นตัวทางเทคนิคทะลุผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,385 ขึ้นไป หลังจากเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่บริเวณ 1,370 ทำให้แนวโน้มในระยะสั้นยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,410 โดยมีแนวรับสำคัญที่ 1,380


สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ SJWD หรือ บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)


ดำเนินธุรกิจให้บริการทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรภายในภูมิภาคอาเซียน การบริการของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.บริการโลจิสติกส์และซัพพลาย เช่น บริการจัดการคลังสินค้าและบริหารลานจอดพักรถยนต์ บริการขนส่งและกระจายสินค้า (B2B, D2C, Cross Border, Multimodal Transport) บริการโลจิสติกส์อื่นๆ และบริการโลจิสติกส์ต่างประเทศ  2.ธุรกิจอื่นๆ


ผลประกอบการปี 66 มีกำไรสุทธิ 761 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.44 บาท เมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 65 มีกำไรสุทธิ 504 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.49 บาท


นายบรรณ  เกษมทรัพย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) เปิดเผยว่า บริษัทวาง 3 กลยุทธ์หลักในปีนี้ภายใต้งบลงทุนรวมกว่า 4,600 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้เติบโต 12% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 23,979 ล้านบาท และวางเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) เป็น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 70


กลยุทธ์ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ 1. ขยายและเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระดับภูมิภาค (Regional Connectivity & Expansion) 2. เพิ่มความแข็งแกร่งและยกระดับธุรกิจ "คลังสินค้าห้องเย็น" และ "ออโตโมทีฟ" (Strengthen & Scale up Cold Chain & Automative) และ 3. สร้างโอกาสจากธุรกิจใหม่ (New Business Opportunities)


กลยุทธ์แรก Regional Connectivity & Expansion วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศเป็น 40% ในปี 70 โดยที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าทางทะเล (Sea Freight) ตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) และเข้าลงทุนในบริษัทให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนรายใหญ่ในมาเลเซีย เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ ครอบคลุมทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ในภูมิภาคอาเซียนและจีน


กลยุทธ์ที่ 2 "Strengthen & Scale up Cold Chain & Automative" บริษัทจะใช้จุดแข็งของบริการคลังสินค้าห้องเย็นครบวงจรแบบ End-to-End และบริการโลจิสติกส์แก่ผลิตภัณฑ์ยาครอบคลุมทั่วประเทศในการขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้เติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา


ปัจจุบันมีคลังสินค้าห้องเย็นที่เปิดบริการแล้ว 6 ทำเล ได้แก่ สมุทรสาคร, บางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 17, 19, 22, สุวินทวงศ์ และสระบุรี รองรับสินค้าได้ 135,000 ตัน มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย 74% และวางแผนขยายคลังสินค้าห้องเย็นอีก 5 ทำเล รองรับสินค้าได้อีก 34,000 ตัน ได้แก่ 1. DC คลังสินค้าห้องเย็น ย่านรังสิต 2 หลัง รองรับสินค้าได้ 23,000 ตัน 2. สาขาเชียงใหม่ จัดเก็บสินค้าได้ 1,500 ตัน และ 3. สาขาขอนแก่น จัดเก็บสินค้าได้ 1,500 ตัน 4. คลังห้องเย็นสระบุรี เฟส 2 จัดเก็บสินค้าได้ 8,000 ตัน นอกจากนี้จะรวมเครือข่าย FUZE POST ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน เพื่อตอบสนองดีมานด์ตลาด B2B2C


ส่วนกลยุทธ์ที่ 3 "New Business Opportunities" จะโฟกัส 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ที่ก่อสร้างตามความต้องการของผู้เช่า ภายใต้บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด ซึ่ง SJWD ร่วมทุนกับ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนารวม 9 ทำเล คิดเป็นพื้นที่คลังสินค้าให้เช่ารวมกว่า 500,000 ตารางเมตร รวมถึงมีแผนนำคลังสินค้าจัดตั้งกอง REIT ในปีนี้


ในปีนี้บริษัทมีแผนจะนำคลังสินค้าทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่รังสิต แหลมฉบัง บางนา กม.22 และบางนา กม.19 พื้นที่รวม 200,000 ตารางเมตร ขายเป็นสินทรัพย์จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่มีขนาดไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 2/67 และเตรียมนำ บริษัท แอลฟา อินดัลเทรียล โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 68

ขณะที่ในปีนี้ยังเดินหน้าในการซื้อขายควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีอยู่ในไปป์ไลน์ประมาณ 4-5 โครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนไม่เกินปี 68 ทั้งนี้ต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุน ซึ่งธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนจะเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจของบริษัทได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีความต้องการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อนำเอาเทคโนโลยี รวมทั้งบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการทำงานและได้รับผลตอบแทนกลับมาที่เหมาะสม


สำหรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 1/67 ยังเติบโตดีต่อเนื่องจากไตรมาส 4/66 ที่ผลประกอบการทำ New High โดยมาจากการเติบโตของทุกๆ ธุรกิจ รวมทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากดีลต่างๆ อีกทั้งปี 66 บริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One-Time Cost) จากการทำดีลราว 200 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว


ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดสัญญาณฟื้นตัวทางเทคนิคเหนือแนวรับของเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ 15.00 หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเคลื่อนไหวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันขึ้นไป ทำให้แนวโน้มหลักยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 18.00 และ 20.00 แต่ถ้าปรับตัวลดลงไปเคลื่อนไหวต่ำกว่า 14.70 จะเป็นสัญญาณขายทางเทคนิค


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/c/ThunhoonOfficial

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

X คลิก https://twitter.com/thunhoon1

Instagram คลิก https://instagram.com/thunhoon.news?igshid=YTY2NzY3YTc=

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X