> SET > AOT

30 เมษายน 2020 เวลา 07:30 น.

AOTพร้อมรับบิน1พ.ค. เชื่อไม่ลดภาษีสนามบิน

ทันหุ้น – สู้โควิด – AOT เตรียมพร้อม 5 สนามบินพร้อมรับสายการบินโลว์คอสต์ กลับมาเริ่มบิน 1 พฤษภาคมนี้ คาดเริ่มมีเที่ยวบิน 92 ไฟลท์ ผู้โดยสารยังน้อย 3-4 พันคน โบรกคาดธุรกิจการบินฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งปียังขาดทุน 6 หมื่นล้านบาท แต่ AOT กำไรเหลือ 241 ล้านบาท ยังเชื่อจะไม่เห็น AOT ลดภาษีสนามบิน


รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้เตรียมความพร้อมท่าอากาศยานทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วยท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ท่าอากาศยานหาดใหญ่, และท่าอากาศยานภูเก็ต รองรับการกลับมาทำการบินของผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ (Low-cost) ที่จะกลับมาทำการบินในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563


เบื้องต้นสายการบินที่จะกลับมาให้บริการประกอบด้วย 1.สายการบินไทยแอร์เอเชีย, และ2.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ จะเริ่มให้บริการเส้นทางในประเทศ สำหรับสายการบินนกแอร์ นั้นให้บริการเส้นทางในประเทศมาอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 10เที่ยวบิน (ไป-กลับ) หรือ 20 ไฟลท์ มีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยต่อวันที่ 1,000 คน


โดยขณะนี้ AOT ได้เตรียมความพร้อมของสถานที่, อาคารผู้โดยสาร, โดยเฉพาะท่าอากาศยานดอนเมืองได้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนเพิ่มเติม 2 จุด เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่จะผ่านเข้ามาในอาคาร และกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในอาคารผู้โดยสาร รวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ตั้งแต่การรอเช็คอิน จนถึงการรอขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกของสายบินอย่างเคร่งครัด


ประเดิม 92 ไฟลท์บิน


เบื้องต้นทาง AOT ได้รับรายงานจากท่าอากาศยานดอนเมืองว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปจะมีสายการบินเข้ามาใช้บริการประกอบด้วย 1.สายการบินนกแอร์ จะบินเป็นวันละ 24เที่ยวบิน, 2.สายการบินไทยแอร์เอเชีย จะบินวันละ 18 เที่ยวบิน, และ 3.ไทย ไลอ้อนแอร์ จะบินวันละ 4 เที่ยวบิน รวมท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีเที่ยวบินรวม 46 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) หรือ 92 ไฟลท์ คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็นวันละ 3-4 พันคน


สัญญาณบวกอ่อนๆ


นายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) คาดการณ์การธุรกิจการบินจะฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการกลับมาทำการบินในระยะแรกยังได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายตั๋วโดยสารได้เต็ม 100%ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายตั๋วโดยสารเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการบิน, ประกอบกับยังมีมาตรการเคอร์ฟิวเข้ามากดดันความต้องการเดินทางอย่างมีนัยสำคัญ


ทั้งนี้ผู้ประกอบการสายการบินมีต้นทุนคงที่ คือ 1.น้ำมันประมาณ 30-40% แม้ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้น ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนการทำประกันความเสี่ยง(เฮจจิ้ง)สูง อาจยังติดสัญญา ทำให้ต้นทุนในยังอยู่ในระดับสูง , 2.ค่าบริการสนามบินประมาณ 7-10% , 3.ต้นทุนพนักงาน, และ 4.ค่าเช่าเครื่องบิน ภาระดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมาทุกสายการบินสามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง


“ด้วยราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางได้สะดวกจึงถึงเป็นปัจจัยจำกัดความต้องการเดินทางให้ลงอย่างมีนัยสำคัญ คนที่จะบินในระยะนี้ต้องเป็นคนที่มีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งก็ต้องรอดูกระแสตอบรับว่าจะมาก-น้อยแค่ไหน”


เบื้องต้นฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจการบินทั้งปี 2563 น่าจะขาดทุนสุทธิ 6หมื่นล้านบาท, โดยคาดว่า AAV จะขาดทุน 3.8 พันล้านบาท, BA จะขาดทุน 3พันล้านบาท, และ THAI จะขาดทุน 5.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ AOT คาดว่าจะยังมีกำไรอยู่ที่ 241 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่ทำได้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท


สำหรับ AOT มีสัดส่วนรายได้จากสยามบินดอนเมือง ประมาณ 20%, สนามบินภูเก็ตประมาณ 10%, สนามบินเชียงใหม่ประมาณ 5%, และสนามบินหาดใหญ่+เชียงรายประมาณ 1% มีสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 60%และในประเทศ 10% โดยมีค่าภาษีสนามบินผู้โดยสารระหว่างประเทศ 700 บาท และผู้โดยสารภายในประเทศ 100 บาท ดังนั้นแม้ AOT จะกลับมาเปิดให้บริการรายได้ก็จะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว


แนะ “ซื้อ” เป้า 70.50 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ AOT รายงานต่อตลาดว่าจะมีการช่วยเหลือสายการบินและอื่นๆ ดังนี้ 1) การลดค่าธรรมเนียม 2) การเลื่อนการชำระเงิน 3) การการันตีขั้นต่ำใหม่หลังพ้นจากของการยกเว้น (ตามมติบอร์ดในเดือน ก.พ.) และ AOT คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดลง 53% YoY ในปี 2563สูงกว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดที่ 40% YoY และคาดว่าสายการบินจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/2563 เป็นต้นไป


ฝ่ายวิเคราะห์ไม่คาดว่า AOT จะยอมลดภาษีสนามบิน แต่มีความเสี่ยงที่ AOT จะต้องใช้มาตรการช่วยเหลือไปจนถึงปี 2564พร้อมกันนี้ปรับการการันตีขั้นต่ำสำหรับ Duty Free และพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ลง เนื่องจากคาดการณ์ว่า King Power จะไม่ยอมจ่ายราคาเต็มที่ 2.35 หมื่นล้านบาท ตามสัญญาในปี FY2565 และด้วยผู้โดยสารที่ลดลง ทำให้เราปรับ OPEX ลงชดเชย และทำให้มูลค่าที่เหมาะสมที่ 70.50 บาท แนะนำ “ซื้อ”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X