> SET > CPF

01 เมษายน 2024 เวลา 17:18 น.

ทริส หั่น เรทติ้งCPFเหลือ A เหตุผลดำเนินงานอ่อนแอลง

#ทริส#ทันหุ้น -ทริส หั่นเรทติ้งCPFเหลือ A จาก A+ เหตุผลดำเนินงานอ่อนแอลง จากราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ลดลงมาก -ภาระหนี้สินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง -ความล่าช้าในการลดหนี้ มองว่าบริษัทจะยังมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า


ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPFป็นระดับ “A” จาก “A+” พร้อมทั้งลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) เป็นระดับ “BBB+” จาก “A-” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก“Negative” หรือ “ลบ”


การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนลง อันเป็นผลมาจากราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ลดลงมาก ตลอดจนภาระหนี้สินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนและซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความล่าช้าในการดำเนินการลดหนี้ของบริษัท จากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของธุรกิจ ทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะยังมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า


อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับโลกของบริษัท ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความผันผวนของรายได้ที่มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำ 


ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี2566 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้มาก รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเท่ากับ 5.9 แสนล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงตลอดจนราคาสัตว์บกและกุ้งที่ลดลงอย่างมากราคาผลิตภัณฑ์สุกรของบริษัทลดลงมากจากการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนในประเทศไทย และสถานการณ์อุปทานส่วนเกินในหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่ราคาไก่ก็ปรับลดลงจากการเป็นสินค้าทดแทนสุกรและความต้องการที่ลดลงในตลาดส่งออก ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ราคากุ้งก็ไม่แตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากราคาที่ลดลงอย่างมากจากภาวะอุปทานส่วนเกินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก 


ทั้งนี้นอกจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมาก กำไรของบริษัทยังถูกลดทอนจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานาน ราคาธัญพืชหลักซึ่งประกอบด้วยข้าวโพด กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากภาวะอุปทานขาดแคลนปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ของบริษัทลดลง 32.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 4.17 หมื่นล้านบาทซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ที่ 5.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 อัตราส่วน EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่7.1% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าที่เราคาดไว้ที่ 8.4% และต่ำกว่าระดับ 10%-14% ที่บริษัทเคยทำได้ในช่วงปี 2562-2565


การฟื้นตัวของกำไรยังคงเผชิญความท้าทาย

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในปี 2566 บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ตลอดจนการบูรณาการกับบริษัทในเครือที่เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตข้างหน้าจะเผชิญความท้าทายจากการฟื้นตัวของราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยังส่งผลกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้สินในระดับสูง


ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 6.06-6.51 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2569 อัตราส่วน EBITDA Margin จะเพิ่มจาก 7.1% ในปี2566 มาอยู่ที่ระดับ 8.8%-9.6% ในปี 2567-2569 ในขณะที่ EBITDA จะเพิ่มจาก 4.17 หมื่นล้านบาทในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 5.3-6.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2569


แผนการลดหนี้ที่ล่าช้า และมีหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับสูงอย่างยาวนาน

ภาระหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ตกต่ำ และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น โดยหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.11แสนล้านบาทในปี 2566 เพิ่มจากระดับ 3.76 แสนล้านบาทในปี 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่าในปี 2566 เพิ่มจากระดับ 8 เท่าในปี 2564-2565 และ 5-7 เท่าในปี 2561-2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 65.3% ในปี 2566 จากระดับ 59.6% ในปี 2563


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินโดยมีแผนนำบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเข้าเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสาธารณะและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินดังกล่าวมีความล่าช้า ทั้งจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลง จากมาตรการลดต้นทุน การปรับปรุงกระบวนการผลิต และการลดขนาดกำลังการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพลง


รวมถึงการระมัดระวังและปรับลดค่าใช้จ่ายลงทุน ทั้งนี้บริษัทมีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายลงทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปี 2567 เทียบกับระดับ 2.2-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหากไม่นับรวมเงินระดมทุนจากการนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เท่าในปี 2567 และประมาณ 8 เท่าในปี 2568-2569 จากการคาดการณ์ว่าราคาเนื้อสัตว์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรในไทยและเวียดนาม รวมทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะลดลง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 64%-65% ในปี2567-2569


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X