> Trendtalk > SCGP

10 กุมภาพันธ์ 2021 เวลา 06:10 น.

Trendtalk - SCGP

ทันหุ้น - ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านที่ 1530 จุด ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรในระยะสั้น พร้อมด้วยมูลค่าการซื้อขายที่กลับแข็งแกร่งอีกครั้ง ทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุผ่านแนวต้านที่ 1530 จุดขึ้นไป จะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1560 และ 1600 จุด โดยมีแนวรับในระยะสั้นที่ 1515 และ 1500 จุด


สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ SCGP หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร โดยแบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) และ (2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) โดยมีบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลัก 77


ผลการดำเนินงานปี 63 มีกำไรสุทธิ 6,457 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.95 บาท กำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 5,268 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.69 บาท


นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปี 64 เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก (2 digit) ทะลุระดับ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 9.28 หมื่นล้านบาทในปี 63 นับเป็นการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เป็นผลจากดีลการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งดีล Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษในเวียดนาม ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.63 และดีล Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักรที่แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.64 รวมถึงยังเป็นการเติบโตตามแผนการขยายกำลังการผลิตตามปกติของบริษัทด้วย


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 63 ของ SCGP มีรายได้จากการขาย 9.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น รายได้จากสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร 85% และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ 15% โดยรายได้ทั้งหมดราว 52% มาจากในประเทศ ส่วนที่เหลือ 48% มาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน ขณะที่ปี 63 มีกำไรสุทธิ 6.46 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า


สำหรับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในปี 63 มาจากการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การบริหารต้นทุน วัตถุดิบ และซัพพลายเชนที่มีการปรับพอร์ตการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การขยายฐานธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) และการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership : M&P) เพื่อขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนจุดแข็งและสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) กับ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging (Thailand) Limited


สำหรับในปี 64 บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงดีลควบรวมกิจการและการขยายลงทุนตามแผน ซึ่งยังเน้นในภูมิภาคอาเซียน โดยจะลงทุนขยายธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โครงการขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และโครงการขยายบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ในประเทศไทยจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้


ส่วนสายธุรกิจเยื่อและกระดาษของบริษัทในปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษ ,กระดาษพิมพ์เขียนลดลงอย่างมากจากมาตรการควบคุมโรคระบาด โดยการปิดสถานศึกษาและนโยบายรณรงค์ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) ดังนั้น บริษัทจึงได้วางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่บรรจุภัณฑ์อาหาร


ทั้งนี้ การลงทุนใน Go-Pak ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มประเภทนำกลับและพร้อมรับประทานในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ก็จะเป็นการขยายฐานลูกค้า การขยายความสามารถในการผลิตและจัดจำหน่าย รวมถึงการขายเยื่อกระดาษไปยังลูกค้ากลุ่มกระดาษชำระมากขึ้น ท่ามกลางความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นสถานการณ์โรคระบาด และการปรับโครงสร้างต้นทุนของกลุ่มธุรกิจ ก็จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสายธุรกิจนี้ให้ดีขึ้นด้วย


บริษัทนับว่ามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง โดยหลังจากมีการระดมทุนผ่านการนำเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือเกือบ 3.3 หมื่นล้านบาท และมีภาระหนี้อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 0.6 เท่า บ่งชี้ถึงศักยภาพในการขยายธุรกิจในอนาคต


นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 5.5 พันล้านบาท อายุ 3 ปี 8 เดือน เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงกลางปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถออกหุ้นกู้ได้ในช่วง 2 เดือนจากนี้


สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทมากนัก เพราะการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติ (natural hedge) โดยเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อกำไรของบริษัทราว 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในแต่ละปี


SCGP มีราคาเป้าหมายเฉลี่ยจาก IAA Consensus อยู่ที่ 50.67 บาท โดยมีราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 59.30 บาท และมีราคาเป้าหมายต่ำสุดที่ 41.50 บาท

ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดสัญญาณฟื้นตัวทางเทคนิคเหนือแนวรับของกรอบแนวโน้มขาขึ้นในระยะสั้นที่ 46.50-47.00 ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ ทำให้แนวโน้มในระยะสั้นยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 51.00 และ 53.00 เป็นเป้าหมายในการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่มีแนวรับสำคัญที่ 41.00 ถ้าหลุดจะเป็นสัญญาณขายทางเทคนิค

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X