> เคล็ดลับลงทุน >

26 ธันวาคม 2020 เวลา 10:00 น.

อนาคต โออาร์ ในฐานะ Flagship ของกลุ่ม ปตท. ด้านการค้าน้ำมัน-ค้าปลีก

นาทีนี้นักลงทุนคงตั้งตารอ IPO ที่ถือเป็นอีกบิ๊กดีลที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ของกลุ่ม ปตท. ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก ซึ่งดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 40 ปี ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี รวมทั้งแบรนด์ “PTT Station” ของบริษัท สื่อถึงความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ และความสะดวกครบครันในที่เดียว โดยขณะนี้ โออาร์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) กับสำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของ โออาร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย โออาร์ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 3 พันล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO (บนสมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) และวันนี้เราจะมาเปิดมุมมองและวิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจรวมไปถึงแผนงานของ โออาร์ จาก CEO กัน


ผ่าธุรกิจ

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ เปิดเผยว่า สำหรับโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ประกอบไปด้วยสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการค้าส่งในตลาดพาณิชย์ ซึ่งเป็นการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในประเทศและต่างประเทศ การจำหน่ายน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง และการจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น


ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ 2. ถือเป็นพระเอกของ โออาร์ คือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ หรือ Retail อาจจะเรียกว่าอีกอย่างว่าธุรกิจ Non-Oil เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ ร้านกาแฟ “คาเฟ่อเมซอน” ซึ่งเป็นแบรนด์กาแฟชั้นนำของประเทศไทยที่ โออาร์ พัฒนาขึ้นเอง นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ Non-Oil อื่นๆ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์อื่นๆ และการให้เช่าพื้นที่ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ 3. คือกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ปัจจุบัน โออาร์ ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวม 10 ประเทศ


เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน และทำให้คนไทยมีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ที่ผ่านมาสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก็ถือเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด เพราะเมื่อเข้ามาในสถานีบริการน้ำมัน ผู้บริโภคจะได้รับความสะดวกสบาย จึงทำให้โออาร์ มุ่งเน้นการขยายธุรกิจ Non-Oil จนเกิดแพลตฟอร์ม Oil และ Non-Oil ที่ผสมผสานกัน ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบัน โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,900 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)ขณะที่ร้านคาเฟ่อเมซอน มีกว่า 3,400 แห่งในประเทศไทยและต่างประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) ซึ่งถือว่ามีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 6 ของแบรนด์ร้านกาแฟทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ขณะที่ตลาดต่างประเทศบริษัทก็เข้าไปดำเนินธุรกิจแล้วถึง 10 ประเทศ ดังนั้น ปตท. จึงเล็งเห็นว่าหากนำ โออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นโอกาสที่จะเกิดความเข้มแข็งในการขยายธุรกิจและเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ปรับโครงสร้าง

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ทาง ปตท. จึงได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการโอนธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-oil) ให้กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ โดยรูปแบบธุรกิจของ โออาร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะใช้หลักการในการดำเนินธุรกิจเพื่อ “เติบโตไปด้วยกัน” ดังนั้น โมเดลธุรกิจที่ โออาร์ เป็นเจ้าของ ลงทุนเอง และดำเนินการเอง (Company-Owned-Company-Operated หรือ COCO) จึงมีจำนวนประมาณ 20% และอีกราว 80% โออาร์จะเน้นให้เป็นการดำเนินการของทางดีลเลอร์ (Dealer-Owned-Dealer-Operated หรือ DODO) หรือในรูปแบบแฟรนไชส์ 


โดยหากเป็นสถานีบริการน้ำมันจะเรียกผู้ให้บริการว่า “ผู้แทนจำหน่าย” หรือ “ดีลเลอร์” ส่วนถ้าเป็นร้านคาเฟ่อเมซอนจะเรียกว่า “ผู้รับสิทธิแฟรนไชส์” โดย โออาร์ มีหน้าที่พัฒนาสินค้าและช่วยทำการตลาด พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) เข้ามามีส่วนในการ “เติบโตไปด้วยกัน” ซึ่งสถานีบริการน้ำมัน PTT Station นั้น มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 1 เป็นระยะเวลากว่า 23 ปีต่อเนื่องกัน ขณะที่ก๊าซหุงต้ม ปตท. นั้นมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 เป็นระยะเวลากว่า 26 ปี ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants ก็มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 มากว่า 10 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ซึ่งเป็นความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการและการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผสมผสานธุรกิจ Oil และ Non-Oil เข้าด้วยกันอย่างลงตัว


ทั้งนี้ โออาร์ ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจปลายน้ำของ ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนและสังคม รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล โดยภายหลังจากการปรับโครงสร้างแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 โออาร์ จึงได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และได้รับการอนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของ โออาร์ จากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ส่วนระยะเวลาที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับ 2 เงื่อนไข คือ สภาวะตลาดและการมีผลบังคับใช้ของแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนของบริษัท 


อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการ IPO นั้น ปตท. จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 75% จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 100% ดังนั้น ภายหลังการ IPO สถานะของ โออาร์ ก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง โออาร์ สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจจะไม่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจและการขยายธุรกิจ เพราะหากนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2561ที่มีการแยกจาก ปตท. โออาร์ ก็ยังคงขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องแม้จะยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยดูได้จาก 3 เรื่องคือ ในแง่ยอดขาย ทางสถานีบริการน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และผลิตภัณฑ์หล่อลื่นยังมีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง หากมองในเรื่องของการขยายการลงทุน นับว่ามีความคล่องตัวมากขึ้นเพราะมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมลงทุนกับ โออาร์ เช่น การเข้าลงทุนใน Flash Express และล่าสุดก็ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟโดยไปเน้นที่ธุรกรรมต้นน้ำเป็นหลัก


นอกจากนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทมีการไปตั้งบริษัทย่อยที่ประเทศจีน โดยถือหุ้นทางตรงในสัดส่วน 100% เพื่อทำธุรกิจทางด้านน้ำมันหล่อลื่นและธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอน นอกจากนี้ ในประเทศเมียนมา โออาร์ เข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อทำธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ และล่าสุดได้มีการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลเปิดบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอน ที่ประเทศเวียดนาม ดังนั้น แม้หลังการ IPO โออาร์ จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจของ โออาร์ อย่างแน่นอน เพราะยังคงมีความสามารถในการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจะเห็นว่า โออาร์ เป็นผู้นำในการพัฒนาและผลักดันผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเกษตรกรไทยมาใช้ เช่น น้ำมันไบโอดีเซลชนิดต่าง ๆ จึงนับเป็นจุดแข็งของ โออาร์ ที่จะขยายธุรกิจต่อไป ซึ่งจะเน้นในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน


จุดเด่น

“จุดเด่นของเราเลยคือ เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของสถานีบริการน้ำมัน เรามีสถานีบริการน้ำมัน PTT Stationเป็นแพลตฟอร์มทำให้มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจ Non-Oil ได้อีกมาก ส่วนที่เราประสบความสำเร็จแล้วอย่างร้านคาเฟ่อเมซอน อีกทั้งตลาดต่างประเทศของบริษัทก็มีการขยายและประสบความสำเร็จแล้วอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว ดังนั้น สินค้าและบริการของ โออาร์ จึงมีโอกาสต่อยอดไปประเทศอื่นได้อีก ข้อสำคัญอีกเรื่อง คือ ทีมงานทั้งระดับบริหารและพนักงานของเรามีความชำนาญในธุรกิจนี้ และการเป็น Flagship ของกลุ่ม ปตท. ก็ทำให้ โออาร์ มีพาร์ทเนอร์ที่มีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจร และความน่าเชื่อถือทางการเงิน”


ขณะที่นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงินของ โออาร์กล่าวต่อว่า โออาร์ กำลังอยู่ในระหว่างการปรับแผนการขยายธุรกิจ ทั้ง 3 กลุ่มหลัก โดยแผนธุรกิจใหม่นั้นจะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกครั้งในช่วงปลายปี เดิมบริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) ไว้ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบลงทุนในส่วนธุรกิจน้ำมันประมาณ 34% ธุรกิจ Non-Oil ประมาณ 17% ธุรกิจต่างประเทศประมาณ 21% ขณะที่ธุรกิจอื่น S-curve รวมไปถึง M&A จำนวน 28% ทั้งนี้ หากจะเทียบในด้านกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 สัดส่วนกว่า 68.7% จะมาจากธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจ Non-Oil ประมาณ 25.1% และอีก 5.8% มาจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจะให้ความสำคัญในการลงทุนในส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น แต่ธุรกิจน้ำมันก็เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว


แผนอนาคต

ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุนของบริษัท สำหรับธุรกิจน้ำมัน บริษัทมีแผนที่จะขยายจำนวนสถานีบริการในประเทศไทยเป็นกว่า 2,500 สถานีภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1,900 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) ส่วนร้านคาเฟ่อเมซอน คาดว่าจะเพิ่มจำนวนสาขาในประเทศไทยเป็นกว่า 5,200 สาขา จากปัจจุบันที่มีกว่า 3,100  สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศ โออาร์ มีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันเป็นเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีอยู่ 329 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) เป็นกว่า 650 สถานี ส่วนร้านคาเฟ่อเมซอน จะขยายเป็นเท่าตัวเช่นเดียวกันจากปัจจุบันที่มีอยู่ 272 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) เป็นกว่า 550 สาขา โดยจะเน้นการขยายสถานีบริการและร้านคาเฟ่อเมซอนในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ บริษัทก็จะลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจด้วย รวมไปถึงการขยายในส่วนของธุรกิจ Non-Oil เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร เช่น การก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง โรงผลิตผงผสมเครื่องดื่ม และศูนย์กระจายสินค้าสำหรับธุรกิจคาเฟ่อเมชอน


นอกจากนี้ โออาร์ กำลังสร้างศูนย์กระจายสินค้าของผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอัตโนมัติ (Automated Lubricants Distribution Center) ที่ทันสมัย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งนำระบบออโตเมชั่นมาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการขยายตลาดต่างประเทศก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ในประเทศเพื่อนบ้านรวมไปถึงประเทศจีนและโอมานที่ยังมีโอกาสอีกมากทั้งสถานีบริการน้ำมันและร้านคาเฟ่อเมซอน  แต่ทั้งนี้การขยายตลาดในแต่ละประเทศก็จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับประเทศนั้นด้วย


อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิ๊ก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิ๊ก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิ๊ก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิ๊ก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิ๊ก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิ๊ก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิ๊ก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X