> Trendtalk > BANPU

17 ธันวาคม 2020 เวลา 06:20 น.

BANPU

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเคลื่อนไหวที่บริเวณ 1490 จุดตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากถูกขายทำกำไรที่แนวต้าน 1500 จุดลงไปทดสอบแนวรับที่ 1460 จุด ในขณะที่แนวโน้มในระยะสั้นยังอยู่ระหว่างการปรับฐานหลังจากทดสอบแนวต้านที่ 1500 จุด


สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ BANPU หรือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจบริษัทพลังงานแบบครบวงจร โดยสร้างการเติบโตครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (ถ่านหินและก๊าซ) กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และจากพลังงานหมุนเวียน) และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน


บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 516 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.102 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ที่ขาดทุนสุทธิ 40 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.008 บาท


ในขณะที่ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 63 ขาดทุนสุทธิ 1,318 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.26 บาท พลิกกลับมาขาดทุน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 1,002 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.194 บาท

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 470 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,739 ล้านบาท) โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 103% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จากการลดลงของปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แม้จะมีการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ส่งผลให้บริษัทรายงานกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทยังมีผลขาดทุน 16 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการลดต้นทุน และบริหารงบลงทุนอย่างรัดกุมตั้งแต่ต้นปี โดยในสามไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าเต็มที่เพื่อสร้างการเติบโตในพอร์ตธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งความคืบหน้าในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับราคาก๊าซธรรมชาติที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งทยอยส่งมอบโซลูชันด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง


ภาพรวมกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในไตรมาส 3/63 บริษัทยังคงเน้นมาตรการลดต้นทุนการผลิตของเหมืองในทุกประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านอุปสงค์และราคาตลาดที่อ่อนตัวลง ในขณะเดียวกัน ได้ต่อยอดกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยมุ่งขยายธุรกิจต้นน้ำ เน้นมองหาโอกาสเพิ่มเติมในการลงทุนที่สามารถสร้างพลังร่วม (synergy) กับแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งที่มีอยู่ ในจังหวะราคาซื้อขายที่ต่ำลง รวมทั้งมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจกลางน้ำ เช่น ท่อส่งและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ


อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตของแหล่งก๊าซที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทได้อย่างมั่นคง


ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าเอชพีซีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น รวมถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ยังคงเป็นไปตามแผน


สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของ 'บ้านปู เน็กซ์' รุดหน้านำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น โดยร่วมกับภูเก็ต พัชทรี ทัวร์ นำเรือ 'บ้านปู เน็กซ์ อีเฟอร์รี่' (Banpu NEXT e-Ferry) เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทย รวมทั้งผลักดันสมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility) อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ (Smart City)


ล่าสุด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ ในญี่ปุ่น 7 MW เริ่ม COD โรงไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งอยู่ ณ จังหวัดฟูกูชิมะ มีกำลังการผลิตรวม 7 เมกะวัตต์ (MW) ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท Tohoku Electric Power Co., Inc. เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) 36 เยนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง โรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชนราว 1,700 ครัวเรือน และได้รับการตั้งชื่อ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Sawadee Yabuki Hatsudensho


Banpu Next ซึ่งมี BPP และบมจ.บ้านปู (BANPU) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 17 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนที่ลงทุนรวม 240 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วตามสัดส่วนที่ลงทุน 87.89 เมกะวัตต์


บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภมูภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยเน้นการลงทุนในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล


BANPU มีราคาเป้าหมายเฉลี่ยจาก IAA Consensus อยู่ที่ 7.66 บาท โดยมีราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 8.80 บาท และมีราคาเป้าหมายต่ำสุดที่ 6.10 บาท

ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทดสอบแนวต้านของกรอบแนวโน้มขาขึ้นที่ 10.00 ถ้าสามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปที่ 10.40 และ 11.00 เป็นแนวต้านสำคัญ ในขณะที่การปรับฐานในระยะสั้นจะมีแนวรับที่ 9.20 และ 9.00 เป็นจังหวะในการเข้าซื้อ แต่ถ้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 8.80 ลงไป ราคาห้นุจะมีแนวรับถัดไปที่ 8.00


สนใจบทความย้อนหลัง และเรื่องราวที่น่าสนใจ สามารถหาดูได้ในเพจ Trendtalk

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X