> SET > BAY

02 ธันวาคม 2020 เวลา 18:07 น.

BAY ชี้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่

ทันหุ้น-BAY คาดเงินบาทในปี 2564 ยังคงแข็งตัวหนุนด้วยเม้ดเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย คาดธปท. จะเข้ามาดูแลค่าบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป เพื่อไม่ให้ให้มีผลกระทบหนักต่อภาคการส่งออก ส่วนผลตอบแทนพันธบัตร ระยะสั้นยังคงไม่เห็นทิศทางการปรับขึ้น แต่ระยะยาวมีแนวโน้มขยับขึ้น


นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY คาดว่าค่าเงินบาทในปี 2564 ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ โดยจะอยู่ในช่วง 29-30บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากสิ้นปีนี้ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่เม็ดเงินทั่วโลกชะลอการลงทุนในสหรัฐเพื่อดูความชัดเจนของนโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ หรือนายโจ ไบเดน


ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ที่ขึ้นไปแตะ 30,000 จุด ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะแนวโน้มผลตอบแทนเริ่มน้อยลง เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM)ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าตลาด EM ในช่วงไตรมาส4/2563 โดยเฉพาตลาดหุ้นเอเชียที่รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น อีกทั้งไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า


ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก มองว่าธนาคารกลางต่างๆ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องในปี 2564 และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะสหรัฐที่คาดว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงได้อีก

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 2564 แต่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้แนวทางในการประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ของการกระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึงเพื่อทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และธุรกิจยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้


นอกจากนี้ แนวทางการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2564 มองว่า ธปท.จะเข้ามาดูแล  เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป คือพยายามไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูง 7-8%เหมือนกับในปี 2562เพราะอาจจะกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจไทย


แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตร มองว่า ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังคงที่ หรือยังไม่เห็นการปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นทิศทางการปรับขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ จากภาพการลงทุนต่างๆ จะกลับมา และเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรคือ การผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้จริงอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นได้มากขึ้น และตลาดเกิดความมั่นใจมากขึ้นต่อทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X