> SET > BBL

26 พฤศจิกายน 2020 เวลา 08:45 น.

ผ่าหุ้นแบงก์แพงรึยัง พลังฟันด์โฟลว์สู้NPL

ทันหุ้น- วิพากษ์กลุ่มแบงก์แพง? หลังฟันด์โฟลว์ดันขึ้นมาแรงจนหลายธนาคารเกินราคาเป้าหมายแล้ว โบรกชี้ไตรมาส 4 ผลงานร่วงจาก Q3 ถึงเวลา NPL โผล่ กดดันตั้งสำรองอีก คาดการฟื้นตัวปี 2564 ยังไม่มากแค่ 15% เหตุต้องตั้งสำรอง NPL ต่อเนื่อง วัดใจวัคซีนดันปรับเพิ่มราคาเป้าหมายได้หรือไม่


บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว หลังจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงราว 30% ในเดือนพฤศจิกายน ตอบรับข่าวที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้จ่ายเงินปันผล และเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าจากข่าววัคซีน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ จะเริ่มเห็นภาพที่ชัดขึ้นในปี 2564 แม้ความเสี่ยง downside จะปรับลดลงเพราะความคืบหน้าของวัคซีน

จากการสำรวจพบว่า 9 ธนาคารพาณิชย์ที่ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ทำการวิเคราะห์ ราคาหุ้นปัจจุบันส่วนใหญ่เกินราคาเป้าหมายไปแล้ว อาทิ KBANK เป้าหมายที่ 92 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 114 บาท KKP ราคาเป้าหมาย 42 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 47บาท BAY เป้าหมาย 21 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 25.75 บาท KTB เป้าหมาย 11 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 11.40 บาท TISCO ราคาเป้าหมาย 72 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 79.50 บาท TMB เป้า 1.10 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 116บาท TCAP เป้า34.75 บาท ราคาล่าสุดอยู่ที่ 34.75บาท


โดยมี BBL เพียงหุ้นเดียวที่ราคาปัจจุบันยังคงต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ 132 บาท โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 125 บาท


มูลค่าหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสวนกับสินเชื่อในเดือนตุลาคมก็กลับมาหดตัวลง 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) โดยมีสาเหตุมาจากการชำระคืนหนี้เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง อัตราการขยายตัวของสินเชื่อจากต้นปีถึงปัจจุบันของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 3.8% และอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5.2% สอดคล้องกับประมาณการเต็มปีของเราที่ 4.8% ไม่รวมการเติบโตจากการซื้อกิจการในส่วนของ BBL โดย KBANK และ KKP เป็นธนาคารเพียงสองแห่งที่ขยายสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น MoM ในเดือนตุลาคม และอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ YTD สูงกว่าประมาณการปี 2563 ของเรา


@ NPL กดดันไตรมาส 4

บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า กำไรไตรมาส4/2563 ของกลุ่มธนาคารจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาส 3/2563 (QoQ) โดยมีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง สินเชื่อที่หดตัวลงจากการชำระคืนหนี้เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่แคบลงจากการโอนกลับดอกเบี้ยค้างรับของสินเชื่อที่เปลี่ยนมาเป็น NPL หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง พร้อมกันนี้ไตรมาส 4 นังเป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง

จึงประเมินกำไรปี 2563 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 36% จากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปี 2564 คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตปานกลางที่ 15% เพราะธนาคารจะยังคงตั้งสำรองจำนวนมากเพื่อรองรับ NPL ที่จะเพิ่มขึ้นทั้งหมด

สำหรับปี 2565 คาดว่ากำไรจะเติบโต 20% หลักๆ เกิดจากการตั้งสำรองลดลง แม้ว่าจะถูกฉุดรั้งโดย NIM ที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46%


@ รอวัคซีนชัดเจน

ด้านนายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ ยอมรับว่า ราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงนั้นทำให้อัพไซด์เริ่มจำกัด หากเทียบกับเป้าหมายราคาหุ้นจากประมาณการเดิม แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการรอความชัดเจนด้านวัคซีนที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศไทย หากมาตามความหวังก็มีโอกาสที่จะปรับประมาณการขึ้นไปได้ ส่วนระยะเวลาที่จะปรับประมาณนั้นต้องเห็นผลความขัดเจนก่อนว่าวัคซีนจะกลับมาช่วย ท่องเที่ยว ขนส่ง โรงแรมต่างๆ ได้จริง โดยยังคงแนะนำ BBL ที่เป้าหมาย 129 บาท และ TISCO ที่เป้าหมาย 89 บาท

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X