> SET >

22 ตุลาคม 2020 เวลา 08:00 น.

รฟม.ลั่นอุทธรณ์สีส้ม ควบคู่ยื่นซอง9พ.ย.นี้

ทันหุ้น – สู้โควิด – รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกด้วยเกณฑ์TORเดิมพิจารณาราคา 100% ตามคำสั่งศาล ควบคู่ยื่นอุทธรณ์ เปิดซอง 1 แต่ แต่ชะลอเปิดซองอื่น รอผลอุทธรณ์ ย้ำชัดเอกสารประกวดราคาเขียนชัดมีสิทธิยกเลิกการประกวดราคาได้ทุกเมื่อ ชี้เอกชนไม่เรียกร้องค่าเสียหายกรณีสั่งปิดบริการ เคาะPPPรถไฟฟ้าภูเก็ต 3.5 หมื่นล้านบาท


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ระบุ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มอบอำนาจให้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. ในฐานะประธานในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ร่วมกับคณะอัยการ พิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามสิทธิ์ที่ผู้ถูกฟ้องสามารถดำเนินการได้ ภายใน 30 หลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการประกาศใช้เอกสารประกวดราคา (RFP) การจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ที่กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชนตามคะแนนด้านเทคนิค 30% และด้านราคา 70% เป็นผลให้ รฟม.ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100% ตามเดิม


เบื้องต้นรฟม.จะยังคงกำหนดเปิดรับซองข้อเสนอภาคเอกชน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 โดยระหว่างนี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน ทั้งนี้หาก รฟม.ต้องเปิดซองข้อเสนอภายใน 14 วันหลังจากรับซองฯ ก็จะเปิดข้อเสนอในซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติก่อน แต่อาจต้องชะลอการเปิดซอง 2 ด้านเทคนิค เพื่อรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด


RFPเปิดทางยกเลิกการประมูล


นายภคพงศ์ กล่าวว่า เอกสาร RFP ระบุไว้ชัดเจนว่า รฟม. มีสิทธิ์ยกเลิกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจการพิจารณาของคณะกรรมการ ตามมาตรา 36


"ระหว่างนี้ เอกชนก็ต้องเตรียมตัวยื่นข้อเสนอ ตามกำหนดเบื้องต้นที่ รฟม.ประกาศไว้ส่วนจะมีการเลื่อนยื่นซอง หรือยกเลิกประกวดราคาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ ม.36 ซึ่งสามารถทำได้ เพราะได้มีการสงวนสิทธิ์ยกเลิกประกวดราคาไว้ในเอกสาร RFP แล้ว ส่วนเอกชนจะเตรียมตัวยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์พิจารณาแบบใด ก็ถือเป็นเรื่องของเอกชน ไม่ใช่หน้าที่ของ รฟม. แต่เชื่อว่าเอกชนทุกรายจะต้องเตรียมข้อเสนอที่ดีที่สุดมาอยู่แล้ว"


เอกชนไม่ใช้สิทธิ์ขอชดเชย


จากกรณีที่มีการปิดบริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ทางการเมืองนั้น นายภคพงศ์ ยืนยันว่า เอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ปฎิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานภาครัฐฯ ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามสัญญาสัมปทานระบุไว้ว่า เอกชน มีสิทธิ์ขอชดเชยได้ กรณีที่ภาคราชการมีการกำหนดมาตรการใดๆ ที่กระทบต่อการให้บริการ หรือทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง แต่เบื้องต้นทาง รฟม. ได้ประสานงานไปยัง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)หรือ MEB ผู้รับสัมปทานให้บริการรถไฟฟ้า MRT แล้ว ในเบื้องต้น เอกชนยังไม่ขอชดเชยใดๆ


“สถานีรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน และถนนสายหลัก ซึ่งเป็นจุดที่มีการนัดชุมนุม ดังนั้นการใช้รถไฟฟ้าเดินทางจึงมี 2 ส่วนคือ เดินทางไปร่วมชุมนุม แต่อีกส่วนจะเป็นประชาชนที่ไม่ประสงค์จะไปร่วมชุมนุม ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่มีการชุมนุม”


บอร์ดเคาะรถไฟฟ้าภูเก็ต


ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วานนี้ (21 ตุลาคม 2563) อนุมัติให้ดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงินลงทุนประมาณ 35,201 ล้านบาท โดยพิจารณาเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสถานี 2 สถานี


ขั้นตอนจากนี้ รฟม. จะเสนอโครงการดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณา ก่อนจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังเพื่อบรรจุในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐ-เอกชน (PPP) คาดว่าจะสามารถบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ประมาณต้นปี 2565 โดยการดำเนินงานจะทำคู่ขนาดไปกับการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X