> SET > STEC

25 กันยายน 2020 เวลา 08:00 น.

ตีแผ่อาณาจักรSTEC ก้าวต่อจากนี้คือกำไร

ทันหุ้น-สู้โควิด- STEC วางรากฐานหวังรายได้ประจำ 10 ปีข้างหน้า 20% อนาคต 40% ถอดสูตรเดินเกมร่วมพันธมิตรไม่ต้องลงทุนสัดส่วนมาก แต่ทุกย่างก้าวต้องคุ้มค่า ทั้งรับงานและกำไรลงทุน ด้านธุรกิจก่อสร้างพร้อมหางานดันแบ็กล็อกแตะแสนล้านทุกปี ชี้ศักยภาพสูง ต้นทุนต่ำ เชื่องานขาดทุนใกล้จบแล้ว เข้ายุคทุกงานกำไร


บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECกำลังแผ่ขยายอาณาจักรที่มากกว่าการเป็น “ผู้รับเหมา” รายใหญ่ ด้วยการร่วมพันธมิตรร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กับ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (GULF) , และ ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)  โดยคาดหวังรายได้ที่กลับมาเป็นรายได้ประจำไม่น้อย


นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC ระบุว่า บริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring income) เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ โดยมีเป้าหมายว่า 10ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนเป็น 20% และหวังไปถึง 30-40%


ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการขนาดใหญ่อย่าง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่คาดว่าจะเปิดเดินรถไฟฟ้าได้ในปี 2565 โครงการสนามบินอู่ตะเภา รวมไปถึงโครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา(O&M) มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ที่กลุ่ม BGSR สร้างความฮือฮาด้วยการประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 36%


@ 2เด้งได้งาน-กำไร


นายภาคภูมิ ระบุว่า หลักการร่วมลงทุน PPP นั้น อัตราผลตอบแทน(IRR) เบื้องต้นต้องเป็นตัวเลข 2 หลักทาง STEC จะลงทุนราว 15%-20% ของมูลค่าโครงการ และจะต้องมีงานก่อสร้างให้กับบริษัท โดยบริษัทได้มีการนำเสนอราคาค่าก่อสร้างตามมาตรฐานซึ่งจะต้องมีมาร์จิ้นอยู่บ้างไม่ขาดทุน


“การก่อสร้างนั้นส่วนใหญ่ราคาจะไม่แตกต่างกัน แต่ที่ทำราคาลงมาต่ำได้เพราะไปวัดกันในฝั่งการบริหารจัดการและต้นทุนด้านการเงิน ดังนั้นแม้โครงการมอเตอร์เวย์ จะประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 36% แต่จากการทำการศึกษาแล้วมีกำไร ไม่งั้นผู้ร่วมทุนอย่าง RATCH จะอนุมัติผ่านได้อย่างไร”


ด้วยการที่บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี มีความแข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงโครงการรถไฟสายสีส้มตะวันตก ทางกลุ่มก็คาดหวังไว้เช่นกัน


นอกจากนี้ STEC เองก็ยังมีโครงการอาคารสำนักงาน หมอซิต คอมเพล็กซ์ ย่านจตุจักรติดรถไฟฟ้า โดยมูลค่าที่ดินอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างที่ 8 พันล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เจรจาลูกค้าสำหรับการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานแล้ว 50% อย่างไรก็ดียอมรับว่ามีผู้ที่สนใจติดต่อเข้าซื้อโครงการดังกล่าวเข้ามาด้วย


@แบ็กล็อกแสนล้าน


ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้น ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีมาร์จิ้นไม่สูงมาก แต่เป็นไปตามช่วงงานที่เกี่ยวพันกับอาคารรัฐสภาซึ่งกำหนดเสร็จปลายปีนี้ ขณะที่ศักยภาพของบริษัท ณ วันนี้ผ่านงานก่อสร้างหลายประเภท สามารถแข่งขันได้ เพราะมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ และการมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาก่อสร้าง


ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายธุรกิจหลักในเรื่องของการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยจะรักษาระดับแบ็กล็อคในอยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาท ต่อปีบริษัทจะต้องมีงานมาเติมราว 40,000 ล้านบาท ตามที่รับรู้รายได้ไป ปัจจุบันมีบริษัทมีแบ็คล็อคประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีกราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทชนะการประมูลแล้ว เช่นโครงการมอเตอร์เวย์ เป็นต้น


@ รับเหมาต้องมีกำไร


นายภาคภูมิ ยอมรับว่า สถานการณ์ของรับเหมาขณะนี้ยังไม่ค่อยดีนัก และยังหวังมากไม่ได้กับงานประมูลภาครัฐที่จะออกมาก ภาครัฐต้องนำเงินบางส่วนมาช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในส่วนของบริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะยังมีงานก่อสร้างจากโครงการ PPP ที่ยังคงเร่งเดินหน้าได้ ซึ่งบริษัทจะเน้นรับงานที่มีกำไร เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ไม่ต่ำกว่า 5%

“ที่ผ่านมาเราอาจจะต้องยอมขาดทุนเพื่อเข้าสู่ตลาด แต่วันนี้ได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ซึ่งด้วยศักยภาพ กระแสเงินสดของบริษัท และต้นทุนการเงินที่ต่ำ จากนี้ต่อไปการรับงานต่างๆ ก็จะมีกำไร” นายภาคภูมิ กล่าวในที่สุด

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X