> SET >

23 กันยายน 2020 เวลา 08:00 น.

ขาชอร์ตมาแน่ต.ค.นี้ แบโผหุ้นเสี่ยงถูกขาย

ทันหุ้น-สู้โควิด - โบรกแนะทำใจ! หลังหมดเกณฑ์คุ้มครองชอร์ตเซล ถึงเวลาขาชอร์ตเริงร่า คาดมูลค่ากลับมาทะลุเกินพันล้านบาท ทำตลาดผันผวน เปิดวิธีดูหุ้นเข้าเกณฑ์ถูกชอร์ตระวังเนินๆ ท่องเที่ยว และหุ้นใหญ่ 7 บริษัทต้องระวังเน้นๆ เปิด 12 หุ้นเอาตัวรอดได้


บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ระบุว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ ประกาศกลับไปใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ และปรับซิลลิ่ง-ฟลอร์เป็น 30% เท่ากับช่วงก่อนโควิด หลังจากเห็นว่าตลาดหุ้นไทยทรงตัวได้ คาดว่าปริมาณและมูลค่าการทำชอร์ตเซลเพิ่มขึ้น ทั้งจากสภาพคล่องที่มากขึ้นและ Valuation ตลาดหุ้นไทยที่สูง (Forward P/E ปี 2563 อยู่ที่ 24 เท่า และปี 2564 ประมาณ 18 เท่ากว่า) รวมถึงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ เช่น การกลับไป ล็อกดาวน์ รอบใหม่หลังโควิด-19 ยังระบาดมากในหลายประเทศ, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน, การเมืองไทยที่อาจมีการชุมนุมยืดเยื้อ ฯลฯ ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นในต้นไตรมาส 4/2563


@วิธีดูหุ้นเสี่ยงถูกชอร์ต


นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เกณฑ์หุ้นที่เข้าข่ายถูกชอร์ตเซลนั้นจะมีลักษณะ 1.หุ้นราคาแพงเกินกว่ามูลค่า 2.หุ้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด และ 3.หุ้นที่ขึ้นมาเยอะมากๆ การชอร์ตมีโอกาสชนะ


โดยกลุ่มที่จะถูกชอร์ตเซล ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว AOT MINT และ CENTEL กลุ่มที่ 2 หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี ที่มีความเสี่ยงด้านเทรนด์น้ำมันจากโควิด19 กลุ่มที่ 3 กลุ่มธนาคาร แม้ว่าราคาจะต่ำกว่าพื้นฐาน แต่ยังมีประเด็นความเสี่ยงในอนาคตโดยเฉพาะ NPL กลุ่มที่ 4 หุ้นใน SET 100 ที่ขึ้นมาสูงและมีอาจจะมีการชอร์ต เช่น อาหารเครื่องดื่ม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ในการชอร์ตก็จะแล้วแต่นักลงทุนว่ามีมุมมองกับตลาดหุ้นอย่างไร ถ้ามองถ้าหลุด 1250 ก็จะขาย กลุ่มที่ดูอ่อนแอๆ


@สถิติชี้7หุ้นใหญ่เสี่ยง


ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ มองว่า หลังจากยกเลิกมาตรการตั้งแต่ไตรมาส 4/63 เป็นต้นไป จะทำให้มูลค่าการชอร์ตเซลปรับสูงขึ้นกว่าระดับ 1 พันล้านบาทต่อวันได้ ซึ่งจะทำให้ ดัชนีมีโอกาสผันผวนในทางลงสูงขึ้น ส่วนประเด็น Ceiling & Floor ที่จะหันกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ 30% นั้น มองไม่มีผลกระทบต่อดัชนี เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นขนาดกลาง-เล็กผันผวนมากขึ้นมากกว่า ซึ่งหุ้นเหล่านี้ไม่ได้มีน้ำหนักที่จะถ่วงดัชนีแต่อย่างใด


หากตรวจสอบย้อนกลับไปในช่วงต้นปีก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ จะมีการบังคับใช้มาตรการ Uptick rule นั้น จะพบว่าหุ้นที่อยู่ในเรดาร์การชอร์ตเซลของนักลงทุนส่วนใหญ่นั้น จะกระจัดกระจายไปตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรายชื่อบริษัทที่มียอดชอร์ตเซลสูงที่สุดในแง่ของ % ของวอลุ่มการซื้อขายทั้งหมดในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 13 มี.ค. นั้นจะได้แก่ PTTGC-R, TRUE-R, THAI, ADVANC, KBANK, SCB-R, PTT, GULF, EA-R, BGRIM, PTTEP, TMB, TOP-R, KTB, BANPU, AOT, IVL, ADVANC-R, GULF-R, SCC


ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เจาะลึกมากขึ้นไปอีก โดยดูว่าหลังการบังคับใช้มาตรการ Uptick rule ในวันที่ 13 มี.ค.ไปแล้ว หุ้นตัวใดใน 20 ตัวนี้ที่มีสัดส่วนการชอร์ตเซลหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่ามักเป็นหุ้นที่การชอร์ตเซลนั้นเกิดขึ้นโดยการเคาะซ้าย (Zero tick) เป็นสำคัญ ก็จะพบว่ามีตัวหุ้นที่เข้าข่ายระมัดระวังอย่างสูง ได้แก่ PTTGC-R, TRUE-R, SCB-R, EA-R, TOP-R, ADVANC-R, GULF-R


@ 12หุ้นเอาตัวรอดได้


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) ประเมินว่า ในยามสภาพแวดล้อมที่ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ หลังจากมีหลายประเทศกลับมา Lockdown เมือง ถือว่ายังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความผันผวนของตลาดกลับมาใหม่ โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองหาหุ้นที่ผ่านบททดสอบโควิด-19 ผ่าน 4 เงื่อนไข ดังนี้ 1. หุ้นที่กำไรครึ่งปีแรก (1H20 +YoY) เติบโต YoY สวนทางตลาดที่ลดลง 59%YoY 2. หุ้นที่คาดกำไรครึ่งปีหลังเติบโตจากครึ่งปีแรก (2H20F +HoH) 3. หุ้นที่คาดมีการเติบโตของกำไรระยะยาวในปี 2020 – 2021 (EPS Growth 2 ปี) มากกว่า 0 4. ฝ่ายวิจัยแนะนำ “ซื้อ” และมี Upside มากกว่า 0 โดยพบว่ามี 12 หุ้นที่ผ่านบททดสอบ ดังนี้ STA , GUNKUL , MTC , SAWAD , ASK , CPF , CHG , BCH , JMART , STGT , MCS , INSET

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X