> SET >

03 สิงหาคม 2020 เวลา 08:10 น.

ลุย!ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า เกมการเมืองที่ร้อนระอุ นำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” ไม่ลั่นคลอนขาเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แต่อย่างใด จึงเป็นการส่งสัญญาณว่าการลงทุนภาครัฐผ่านเมกโปรเจตต่างๆ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทุกโครงการจะยังคงดำเนินต่อไป


โครงการของกระทรวงคมนาคมในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 (2H63) ในส่วนของปีงบประมาณ 2563ประกอบด้วย 1.โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี รูปแบบ PPP gross cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี วงเงิน 39,138 ล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย BTS, GULF, STEC, และ RATCH


2.โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร วงเงิน 79,006ล้านบาท โดยจะออกแบบการก่อสร้างให้ไปเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี มีกำหนดจะเปิดประมูลในรูปแบบ PPP gross cost ให้เสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในปี 2566


3.โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด เพื่อให้ไปเชื่อมต่อักบสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 7กิโลเมตร


4.โครงการมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร วงเงิน 20,000 ล้านบาท จุดเด่นคือการก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนเกาะกลาง ถ.พระราม 2 เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ด้านตะวันตก ไปสิ้นสุดที่บริเวณก่อนถึงแยกบ้านแพ้ว มีกำหนดเปิดประมูลรูปแบบ PPP Gross Cost ภายในปี 2563ส่วนงานระบบและบำรุงรักษา (O&M) มีกำหนดจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในปี 2567


5.โครงการรถไฟไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร สามารถสรุปสัญญา 2.3งานวางราง ระบบการเดินรถ อาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633ล้านบาทได้ มีกำหนดลงนามสัญญากับทางจีนภายในปี 2563ส่วนงานโยธาวงเงิน 179,413 ล้านบาท ติดปัญหา EIA ช่วงสถานีอยุธยา อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับกรมศิลปากรในการอนุรักษ์สถานีรถไฟเดิมไว้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปรูปแบบก่อสร้าง


6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงินรวม 1.24 แสนล้าน แบ่งเป็นงานโยธา 3,582ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารประกวดราคาและอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างเสร็จแล้ว ตั้งเป้าเปิดประมูลในปี 2563จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564


และงานระบบรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา (O&M) 23,064ล้านบาท เบื้องต้นจะเปิดประมูลในรูปแบบ PPP gross cost ทั้งสายทางรวมสายสีม่วงส่วนเหนือช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่อายุสัมปทาน 30 ปี เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่องโดยเอกชนรายเดียว


ขณะที่สายสีแดงงานก่อสร้างคืบหน้า 70-80%ติดปัญหาสัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างราง ระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่า 32,399 ล้านบาท ที่ช้าจากแผนและผู้รับเหมาขอยืดเวลา 500วัน ทำให้เลื่อนเปิดบริการจาก ปี 2564 เป็นปี 2566ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังเดินหน้าตามแผน จะสร้างเสร็จในปี 2568


ขณะที่ทางน้ำ เร่งปิดดีลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย GULF, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (ปตท.) และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน ได้สรุปการเจรจาผลตอบแทนเพิ่มให้รัฐแล้ว จะเสนอ ครม.อนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2563 นี้


พร้อมกันนี้ยังได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกภาคใต้เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยงบประมาณ 75 ล้านบาท รูปแบบการก่อสร้างจะมีทั้งท่าเรือน้ำลึกและรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนองเชื่อม 2ท่าเรือ ระยะทาง 123 กิโลเมตร มีกำหนดให้เสนอผลการศึกษาภายในปี 2564


อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จึงต้องรอลุ้นงบประมาณ 2564 ที่ยื่นคำขอไปทั้งสิ้น 231,924.78 ล้านบาท แยกเป็นงบฯส่วนราชการ 193,554.31 ล้านบาท และงบฯส่วนรัฐวิสาหกิจ 38,370.47 ล้านบาท เป็นงบฯสำหรับเน้นการดำเนินการสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางบก 186,359 ล้านบาท ทางราง 33,603 ล้านบาท ทางน้ำ 4,867 ล้านบาท และทางอากาศ 6,120 ล้านบาท

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X