> SET > KTC

31 กรกฎาคม 2020 เวลา 14:03 น.

KTC ขานรับแบงก์ชาติ ลดเพดานดบ.เริ่ม1ส.ค.

ทันหุ้น-สู้โควิด: KTC ขานรับ มาตรการธปท. ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต เป็น 16%ต่อปี และสินเชื่อส่วนบุคคลลงเป็น 25% ต่อปี พร้อมผ่อนปรนการชำระขั้นต่ำต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้บริโภค ดีเดย์ 1 สิงหาคมนี้


นายระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 นี้เป็นต้นไป บริษัทฯ จะทำการปรับลดเพดานดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยที่สมาชิกไม่ต้องแจ้งความประสงค์เข้ามาที่บริษัท


โดยในส่วนอิงบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท อัตราดอกเบี้ยรวมอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเท่ากับ 16% ต่อปี บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) และสินเชื่ออเนกประสงค์ “KTC CASH” อัตราดอกเบี้ยรวมอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงสุดเท่ากับ 25% ต่อปี  


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 – ปี 2564 อัตราร้อยละ 8 ในปี 2565 และอัตราร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป


ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การลดค่างวด 30% เป็นต้น 


โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 กลุ่มลูกหนี้ได้เข้าร่วมเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทฯ ประมาณกว่า 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณกว่า 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 90 ราย


ปัจจุบัน KTC มีฐานสมาชิกบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อทะเบียนรถยนต์กว่า 3.5 ล้านบัญชีทั่วประเทศ ขณะที่ ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้บริษัทพร้อมสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า


บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงคำแนะนำ ซื้อ KTC ด้วยราคาเป้าหมาย 37 บาท (P / BV ปี 2563 ที่ 4.2 เท่า และ P / E ที่ 17.3 เท่า) แม้คาดว่าผลประกอบการจะสะดุดในระยะสั้นจากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลง ราว 5% ในเดือน กรกฎาคม และคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ แต่คาดว่า KTC ยังคงเอาอยู่เนื่องจากงบดุลที่แข็งแกร่ง พร้อมภาระหนี้ต่ำและสำรองหนี้สูญที่สูง


ทั้งนี้การปรับลดเพดานดอกเบี้ย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน สิงหาคม 2563 มีผลกระทบเชิงลบต่อ NIM ประมาณ 200-250bps และผลกำไรที่ 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่ลดลงจะชดเชยผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้บางส่วน KTC มองความเป็นไปได้ที่จะขยายพอร์ตสินเชื่อผ่าน M&A หลังจาก ธปท. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค


อย่างไรก็ตาม เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ไม่กังวลเกี่ยวกับอัตราส่วน NPL ที่สูงขึ้นและ NPL coverage ที่ลดลงเนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการตัดหนี้สูญจากบัญชีเปลี่ยนแปลงช้ากว่าคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง ทั้งนี้ มีเงินกู้ 400 ล้านบาท (0.5% ของบัญชีสินเชื่อ) ที่ยกเลิกวงเงินสินเชื่อเดิมและแปลงเป็นเงินกู้ระยะยาว

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X