> SET > KKP

31 กรกฎาคม 2020 เวลา 13:58 น.

KKP มองครึ่งปีหลังยังเสี่ยง คุมเข้มสินเชื่อ -NPLต่ำ3.9%

ทันหุ้น – สู้โควิด: KKP ส่องครึ่งหลังปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยง ทั้งความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แต่ยังคงเป้าสินเชื่อปี 2563 โต 7-9% เน้นสินเชื่อมีหลักประกัน เพื่อรักษาพอร์ตงานคุณภาพ ส่วน NPL ไม่ให้เกิน 3.9% เผยCredit cost ขยับสูงจากมาตรการพักชำระหนี้ การตั้งสำรองที่สูงขึ้น


นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ยังคงมีความเสี่ยงทั้งความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ประเด็นส่งครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเข้ามากดดันให้ GDP ไทยในปีนี้อาจติดลบกว่า 4%


คุมNPLต่ำ3.9%

ด้วยแนวโน้มความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ทำให้ทางธนาคารยังคงความระมัดระวังความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อใหม่และความเสี่ยงในด้านหนี้เสียที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ทางธนาคารมีหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3.4% และด้วยการดูแลให้คำปรึกษาลูกหนี้อย่างใกล้ชิดทำให้ประเมินว่า NPL สิ้นปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ถึง 3.9% 


อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวจะเห็นชัดมากขึ้นหลังการสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกหนี้ที่ดีกว่า 70-80% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติแล้ว


ช่วงครึ่งหลังปีนี้คาดว่าธนาคารยังจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงโดยอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อาจจะปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 129% สาเหตุจากธนาคารยังจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการขาดทุนจากรถยึดรถที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น


โดยแนวโน้มหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ การตั้งสำรองที่สูงขึ้น และโอกาสการขาดทุนรถยึดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารปรับ Credit Cost เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 1.4-1.6% เพราะในช่วงครึ่งแรกปีนี้ Credit Cost ของธนาคารขึ้นมาอยู่ที่ 2.32% จากสิ้นปีก่อนที่ 1.4% และประเมินว่าแนวโน้ม Credit Cost ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกตามค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น


**คุมเข้มสินเชื่อใหม่

ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ทางธนาคารจะหันไปเน้นการให้สินเชื่อในกลุ่มที่มีหลักประกันมากขึ้น และกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 


อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารยังคงเป้าสินเชื่อคงค้างเติบโตไว้ที่ 7-9% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้สินเชื่อคงค้างของธนาคารจะเติบโตได้เพียง 5% แต่มองว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะยังคงมีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ทำให้ลูกค้าในกลุ่มนี้ไม่ได้มีการชำระคืนหนี้ออกไปหักจากสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ แต่หากหักลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ออกไปแล้วพอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารแทบจะไม่เติบโต หรือ 0% ซึ่งตัวเลขที่เกิดขึ้นยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง


ด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ทางธนาคารจะให้ความระมัดระวังมากขึ้น โดยได้หันมาเน้นคุณภาพของลูกค้ามากกว่าเน้นปริมาณ โดยจะเน้นการขยายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไปในกลุ่มแบรนด์รถยนต์ที่มีลูกค้าคุณภาพสูงและวางเงินดาวน์สูง เช่น กลุ่มฮอนด้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มีคุณภาพดีและมีการวางเงินดาวน์สูงเฉลี่ย 20-25% ทำให้มองการขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X