> SET >

29 กรกฎาคม 2020 เวลา 08:00 น.

ดึงต่างชาติฟื้นเศรษฐกิจ โควิดไม่จำเป็นต้องศูนย์

แม้สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศจะคลี่คลาย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศยังคงอ่อนแอ การบริโภคภาคประชาชนยังอ่อนแอ จากการว่างงานเฉียบพลัน


เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติซ้อนกัน 2 วิกฤติ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศหลังโควิด-19  ผลกระทบและความเสียหายจึงมีตามมาต่อเนื่อง ความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักเม็ดเงินต่างประเทศ ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การเดินทางทั้งเพื่อประกอบธุรกิจ และท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก


ผู้ประกอบการทุกกล่มธุรกิจไม่ว่ารายใหญ่ หรือขนาดเล็กรายได้หดหายส่วนทางภาระต้นทุนที่พุ่งจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การรักษาสุขอนามัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า รวมถึงรักษาความปลอดภัยให้พนักงาน


ต้นทุนที่พุ่งสวนทางรายได้ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมหรือ SME ซึ่งเป็นธุรกิจ “ต้นน้ำ” แทรกซึมอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมปิดตัวลง ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน สะท้อนชัดเจนจาก “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ระบุ ความต้องการใช้ดาต้าในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 จากการเคลื่อนย้ายประชากรออกจากกรุงเทพมหานครฯ และยังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้ามา เนื่องจากปริมาณงานไม่เพียงพอต่อแรงงาน


“ความต้องการใช้ดาต้าของซิมเติมเงินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่เคยเดินทางเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ต้องกลับบ้าน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่กลับมาเพราะปริมาณงานในกรุงเทพฯ ลดน้อยลง”


รัฐบาลเร่งกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนทั้งการบริโภคภายใประเทศผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่การใหสิทธิประโยชน์ผ่าน BOI, การผ่อนคลายให้ผู้ถือบัตร Thailand Elite Card, ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับการแพทย์และสุขภาพ, และธุรกิจกองถ่ายภาพยนต์ เดินทางเข้าไทย รวมถึงการเร่งลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยืนยันว่า ไม่สามารถปิดประเทศตลอดได้ ไทยต้องค้าขายกับประเทศคู่ธุรกิจ  ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนทำความเข้าใจระหว่าง “การติดเชื้อ” กับ “การระบาด” ว่ามีความหมายต่างกัน โดยยกกรณีทูตซูดานกับทหารอียิปต์เป็นกรณีศึกษา เมื่อรู้เร็ว เราก็จำกัดขอบเขตได้ ทำให้ไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศ แต่หากจะเกิดภาวะการแพร่ระบาดต้องถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะโรคนี้เป็นโรคระบาด แต่เมื่อระบาดแล้วก็ต้องรีบจำกัดวง และเข้าควบคุมโรค


“กลินท์ สารสิน” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่ ยังต้องรอประเมินผลว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแล้วจะมีการเดินทางจริงมาก-น้อยเพียงใด


สำหรับการผ่อนคลายให้นักลงทุน – นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย รัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นมาตรฐาน ผ่านการกักตัวตามขั้นตอน ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศนั้น ในอนาคตหากมีปรากฏขึ้นมา แต่อยู่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปก็อย่างให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ เพราะระบบเศรษฐกิจต้องอาศัยกลไกหลายด้าน


“รัฐบาลดำเนินนโยบายผ่อนคลายตามขั้นตอน ซึ่งเป็นช่วงสำคัญสำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยว่าจะทยอยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ การท่องเที่ยวจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้มาก-น้อยเพียงใดยังไม่สามารถประเมินอะไรได้ ส่วนการที่จะให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาก็ต้องกักตัวเช่นเดียวกับคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งก็อยากให้ช่วยกันทำความเข้าใจว่าในอนาคต หากจะมีการติดเชื้อในประเทศกลับมา แต่ในปริมาณที่ไม่มากก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนก”


“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV  ระบุ เศรษฐกิจไทยต้องการเม็ดเงินกระตุ้นจากต่างประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการระหว่างมาตรการด้านสาธารณะสุขกับมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ


“ต้องยอมรับว่าไทยเที่ยวไทยก็กระตุ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ซึ่งก็ต้องเลือกเอาว่าจะให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อไปหรือจะพลิกให้ฟื้น การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาหากมีสถิติการติดโควิด-19 ในไทย แต่อยู่ในปริมาณที่รับได้ ซึ่งรัฐบาลต้องกำหนดมาให้ชัดเจนเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X