> SET >

20 กรกฎาคม 2020 เวลา 09:10 น.

ภารกิจหนักครม.ใหม่ เร่งปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ

ทันหุ้น-สู้โควิด- จับสัญญาณ ครม. ใหม่ กับภารกิจหนักปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาย่ำแย่ ความเสี่ยง NPL กับคนตกงานมีมาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ภาครัฐจึงเป็นความหวังเดียว


สอง มุมมองกับการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ หลัง “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคู่บัลลังก์ “นายกรัฐมนตรี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่ปี 2558 ได้ตัดสินใจถอยทัพจากเก้าอี้การบริหารประเทศพร้อมกับ “4กุมาร” ก็สละตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ


เสียงหนึ่งมองว่าเป็น “เรื่องดี” เพราะหากเปรียบประเทศไทยเป็น “บริษัท”แล้วผลงานคือ GDP หากแย่ก็ควรปรับ หาความหวังใหม่


อีกเสียง มองว่าเป็นเรื่องที่ “น่าห่วง” เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นการแย่งชิงอำนาจจากฝั่งการเมือง

ส่วนจะเสียงไหนจะชนะ ก็ต้องดูหน้าตาทีมเศรษฐกิจใหม่ ว่า เป็นเช่นไร?


จากรายชื่อที่นำคนนอกเข้ามาสู่คณะรัฐมนตรี อาทิ “ปรีดี ดาวฉาย”  “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร”  ต่างได้รับการยอมรับในแวดวงธุรกิจ นี่คือ ภาพบวก


แต่ก็อย่าลืม อีกฝั่งจากการเมืองก็ไม่ธรรมดา!!!


อย่างก็ดีน่าสังเกตนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่าได้เชิญ บุคลากรชื่อดังหลายรายร่วมทีม เช่น “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”แต่กลับโดนปฏิเสธ


@ภารกิจหนัก

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาสู่แม่ทัพกู้เศรษฐกิจนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะใครๆ ต่างก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทยติดกับดักเศรษฐกิจยุคเก่า


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562  GDP เติบโตเพียง 2.4% ลดลงปี 2561 ที่เศรษฐกิจเติบโต 4.1% ส่วนปี 2563 แม้ไม่เกิดโควิดก็มองโตในทิศทางชะลอตัวอยู่แล้ว


แต่เมื่อเจอโควิดก็สาหัสหนักกว่าเดิม การส่งออก, การท่องเที่ยว เครื่องยนต์ดับ จน ธปท. ต้องปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจติดลบ 8.1% มากสุดในประวัติการณ์ กว่าจะกลับมาขยายตัวปกติได้เท่ากับปี 2562 ได้ก็โน้นเลยปลายปี 2565 โดยมีเครื่องหมายกำกับชัดเจนว่าประมาณการนี้ไม่รวมสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 


นั้นหมายความว่าระหว่างนี้ ผู้นำทีมเศรษฐกิจ จะต้องคิดหาทางแก้อย่างหนัก


โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือ “หนี้ไม่ก่อรายได้” (NPL) ที่ประเมินว่าจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากจำนวน “ลูกหนี้” 16.37 ล้านบัญชี ที่เข้าโครงการ “พักชำระหนี้” รวมภาระหนี้สูงถึง 6.84 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563)


“สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) คาดว่า ปี 2563 ปริมาณการเกิดหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาท สูงเกิน 10% หรือเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากศักยภาพชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลูกหนี้ลดลงขณะที่รายจ่ายยังมีเท่าเดิม


@เอกชนขอแก้ปัญหาเร็ว

ส่วนภาคเอกชนไทยต่างจับจ้องและฝากความหวังไว้กับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (Dream Team) ชุดใหม่เป็นอย่างมากเพราะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้สาหัสกว่าทุกวิกฤติที่ผ่านมา เพราะต้องยอมรับว่า “โควิด-19” สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจภายในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก


นอกจากการส่งออก การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจนแทบหยุดชะงัก การบริโภคภายในประเทศก็ยังอ่อนแอจากการว่างงาน กดดันให้ภาคเอกชนไทยไม่กล้าลงทุน กลไกเดียวที่ยังเหลืออยู่คือการลงทุนของรัฐบาล


“กลินท์ สารสิน” ประธานสภาหอการค้าไทย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรม และ “กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประสานเสียง ไม่ว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะเป็นใคร สิ่งที่จะต้องแก้ไข คือ พยุงเศรษฐกิจในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว


@ธปท.โยนคลังช่วย

ขณะที่“เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.ระบุชัดเจนว่าการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจรอบนี้ให้ฟื้นได้อย่างแข็งแกร่ง นโยบายการเงิน-การคลังต้องสอดประสานกันอย่าง “ถูกที่-ถูกเวลา”


ซึ่งธปท.ย้ำชัดว่าดำเนินนโยบายการเงินมาจน “สุดทาง” แล้วและเหลือกระสุนอีกเพียง 2 นัดที่จะช่วยพยุงฐานเศรษฐกิจไทยไว้หากมีวิกฤติระลอก 2 ดังนั้นหน้าที่หลักคงต้องเป็นของ “ขุนคลัง” ภายใต้การกำกับนโยบายเศรษฐกิจการคลังของ Dream Team ชุดใหม่


ภาระหนักที่สุดที่พล.อ.ประยุทธ์ แบกไว้บนบ่าในฐานะนายกรัฐมนตรี คือ วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติการเมือง เพราะการที่จะหา “ทางลง” ให้ถูกใจทุกฝ่ายคงไม่ได้


แต่ถ้าอยากให้ถูกใจเอกชน-ประชาชน สิ่งที่ต้องทำก็คือ “เร่งแก้เศรษฐกิจ”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X