> SET >

13 กรกฎาคม 2020 เวลา 07:20 น.

เมกะโปรเจกไม่ล่ม EEC-PPPติดเครื่อง

สัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” เริ่มชัดเจนหลัง “อดีต” แกนนำ 4 คนสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ 4 คน  ยอมทิ้งเก้าอี้พรรคพลังประชารัฐ แม้จะยังคงรั้งเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนเดิม แต่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็ย่อมต้องมีแรงผลักดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อทำให้โควตารัฐมนตรีกลับสู่ภาวะสมดุลตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล


นักเศรษฐศาสตร์การเมือง รวมถึงนักวิเคราะห์ทุกค่ายประสานเสียงฝากความหวัง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ไว้กับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี-ลงนามกับภาคเอกชนแล้วอาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก, โครงการมอเตอร์เวย์ – งาน O&M มอเตอร์เวย์, รวมถึงโครงการที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้ขับเคลื่อน 5 โครงการ ประกอบด้วย


1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, 2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา, 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3, และ 5. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทุกโครงการจะลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ Public Private Partnerships : PPP


@EEC เดินหน้าต่อ

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเลขาฯ EEC ระบุ การพัฒนา EECจะยังคงดำเนินต่อไป เพราะทุกโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลลงทุนร่วมกับภาคเอกชน และมี “พระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พุทธศักราช 2561’ฃ” ให้ความคุ้มครอง อีกทั้งการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของเอกชนผู้ได้รับสัมปทานแต่ละโครงการ


“เศรษฐกิจชะลอตัวก็เป็นกันทั้งโลก แต่การพัฒนาก็ต้องทำต่อไปเพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โครงสร้างพื้นฐานไทยพร้อม นักธุรกิจเขาก็จะเข้ามาลงทุนเพราะความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ยังคงอยู่ ความต้องการย้ายฐานการผลิตก็ยังมีอย่างต่อเนื่องแต่เพราะมีไวรัส เป็นอุปสรรค์ต่อการเดินทางในระยะสั้น เมื่อมีไวรัสทุกอย่างคลี่คลาย การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติ กลไกเศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนต่อไป ทำเลที่ตั้งของไทยได้เปรียบหลายประเทศ หากการคมนาคมขนส่งเราพร้อมสะดวกสบายนักธุรกิจก็ยินดีย้ายเข้ามา”


เร่งผลักดันกฎหมายลูก PPP

“ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ระบุ คณะกรรมการ PPPจะเร่งพิจารณากฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.PPP ให้เสร็จภายในปี 2563 เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่จะยังคงมีขั้นตอนการตรวจสอบที่รัดกุม ป้องการการทุจริต หรือการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดอย่างชัดจน


พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของข้าราชการ และภาคเอกชนจะยังคงดำเนินงานต่อไป เพื่อผลักดันเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


“เมื่อกฎหมายลูกเสร็จหมดการร่วมลงทุนจะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขั้นตอนต่างๆ จะลดลงอย่างมากโดยเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนต่ำกว่า 5 พันล้านบาทไม่ต้องเข้าคณะกรรมการ เจ้าของโครงการกระทรวง กรม กองต่างๆ สามารถดำเนินงานได้เอง แต่ยังมีมาตรการตรวจสอบอย่างรัดกุม”


เศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Technical Recession) หลังการ Lockdown เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อพยุง และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้น สัญญาณการปรับเปลี่ยน ครม. เฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ จึงถือเป็นดัชนี “ชี้นำ” ทิศทางการเศรษฐกิจไทย ว่าจะ “ฟื้น” หรือ “ฟุบ”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X