> SET >

10 กรกฎาคม 2020 เวลา 07:30 น.

4กุมารยังรั้งเก้าอี้รมต. นายกตัวแปรตัดสินศก.

ทันหุ้น – สู้โควิด –การเมืองชิ่งเศรษฐกิจ โครงการยักษ์ หรือไม่? หลัง 4 กุมารลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ย้ำยังอยู่ในเก้าอี้ รมต. เดินหน้าปลุกเศรษฐกิจ เร่งอัดเงินรากหญ้า วงการชี้คลายกดดัน โยนนายกฯชี้ชะตาเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีคนใหม่ที่ดีกว่าอาจใช้คนเดิม วงการชี้เปิดช่องอยู่ตำแหน่งฐานะ รมต.คนนอกสบาย เชื่อได้ไปต่อรอ พ.ร.บ.งบ64ผ่าน หรือ อย่างช้าโควิดคลี่คลาย ด้านนายกฯสั่งงดประชุม ครม.เศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ ร่วมแถลงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังคำดำรงตำแหน่งการบริหารประเทศอยู่

นายอุตตม กล่าวภายหลังแถลงลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ว่า จะยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ทยอยคัดกรองเสนอขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และไม่คิดที่จะตั้งพรรคใหม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งยกเลิกการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันนี้ (10 ก.ค.)กระทันหัน

ยังคงมีแรงกดดัน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุว่า การที่ นายอุตตม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐยังคงสามารถทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ เพราะรัฐธรรมนูญไทยเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกคนนอกผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาดำรงการเมือง โดยทัศนะส่วนตัวเชื่อว่าจะยังทำงานต่อไปได้ ภายใต้กรอบระยะเวลาสั้นสุดคือให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่าน หรือ ระยะยาว กว่านั้นคือ จนกว่าสถานการณ์โควิ-19 จะคลี่คลายลง แต่ก็จะมีแรงกดดันจากสมาชิกภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง และค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อถึงเวลาเหมาะสม

“เป็นไปได้เพราะรัฐธนนมนูญเราเปิดทางไว้ ดูจากนายกฯ ก็ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่ก็คงมีระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้สั้น-ยาว เพราะนายกยังพอมีบารมีที่จะคลี่คลายปัญหาภายในพรรคไปทีละประเด็นได้อยู่ แต่เมื่อหลายๆคนมองว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้ว ก็คงจะคานไม่ได้อีกต่อไป”

ด้านแหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดในพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การลาออกจากพรรคของบุคคลทั้ง 4 นั้น ไม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศยังอยู่ในหน้าที่ เพราะผู้ที่จะตัดสินใจปรับ ครม. หรือไม่นั้น คือ นายกรัฐมนตรี

ซึ่งการลาออกเชื่อว่าคงจะคลายความกดดันให้ทุกฝ่าย ทั้ง 3 รัฐมนตรี 1 รองเลขาธิการ กลุ่มพลังประชารัฐ รวมถึงนายกรัฐมนตรี โดยประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ต้องกระตุ้นหนักหลังโควิด-19ช่วงนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญว่านายกจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งหากไม่มีใครที่มีฝืมือมากกว่ากลุ่มเดิมก็ยังจะต้องดำเนินหน้าที่ แต่ถ้ามีคนที่ฝีมือดีกว่าก็ต้องยอมรับ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีสามารถตัดสินใจได้

คามเม็ดเงินหมุนเวียนปกติ

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) คาดว่า การดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้วจะยังเป็นไปตามกรอบเวลา เนื่องจากข้าราชการผู้ขับเคลื่อน โดยเฉพาะกรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท, มาตรการสินเชื่อต่างๆ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC การลงทุนผ่านโครงการขนาดใหญ่ในกรอบ PPP

พร้อมกันนี้ ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อขั้นตอนการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ล่าช้าออกไปเหมือนเช่นปี 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาโครงการใหม่ ที่อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างศึกษา

“การดำเนินงานมีกรอบนโยบายกำกับอยู่ ดังนั้นก็น่าจะยังดำเนินการไปโดยกลุ่มข้าราชการ โดยเฉพาะการที่กำลังอัดฉีดเม็ดเงินตามกรอบพรก.กู้เงิน ลงสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ โครงการใน EEC แต่ในรายละเอียดคงต้องดูอีกทีว่าจะมีอะไรแตกต่างกันมาก-น้อยอย่างไร”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X