> SET >

07 กรกฎาคม 2020 เวลา 09:37 น.

วิกฤติ(ทีม)เศรษฐกิจ

หลายประเทศทั่วโลกยอมรับว่าไวรัสโควิด-19 กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง เบื้องต้นประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ระบบเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการป้องกันในช่วงเดือนเมษายน


เหมาะ-ไม่เหมาะปรับทีมเศรษฐกิจ

อีกปัญหาที่ปะทุขึ้นมา คือ กระแสปรับคณะรัฐมนตรีทั้งการปรับโครงสร้างภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน และการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจโดยเฉพาะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในคณะรัฐบาลทั้งในยุค “ทักษิณ ชินวัตร”


แม้ว่าผลงานในฐานะ “ขุนพลเศรษฐกิจ” ในคณะรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ “ปัง” จนมีหลายกระแสวิจารณ์ว่าเป็นเพียงอาจารย์ที่มีทฤษฎี “ล้าสมัย” ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเปราะบาง ตลาดไม่มีกำลังซื้อ การลงทุนนิ่งสงบ นักท่องเที่ยวหดตัว ไม่ต่างจาก “อุตตม สาวนายน” ที่มีคำถามถึงความเหมาะสมตั้งแต่มีรายชื่อว่าจะเข้ามาเป็น “ขุนคลัง” ทั้งวิกฤติก็ถาโถมจนไม่สามารถสร้างผลงาน “เป็นชิ้นเป็นอัน”


“กลินท์ สารสิน”ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า หากมีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจริง คนที่จะมารับหน้าที่เป็นทีมเศรษฐกิจต้องเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ ทั้งภาคเอกชน ข้าราชการ และประชาชน เพื่อจะได้เรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ


ประเด็นปัญหาคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่มีทีท่าจะควบคุมได้ ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงปัญหาใหม่ ซึ่งจะปรากฏทันทีหลังโครงการพักชำระหนี้หมดลงในเดือนกันยายน 2563 เพราะแม้รัฐบาลจะดำเนินมาตรการผ่อนคลาย หลายกิจการทยอยกลับมาเปิดดำเนินการ แต่ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการต่างปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน หลายแห่งปิดกิจการ สภาพหอการค้าฯ ประเมินจำนวนคนว่างงานในช่วงมีนาคม-พฤษภาคมที่ประมาณ 7 ล้านราย และอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายระยะที่ 5 ไปแล้วระยะหนึ่ง


ยอมรับประเมิน NPLไม่ได้

“ปรีดี ดาวฉาย”กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกร จำกัด (มหาชน) หรือ KBANKในฐานะประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า ณ ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดสามารถประเมินได้ว่าเมื่อมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลงสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบจะปรับเพิ่มขึ้นขนาดไหนจากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ต่อสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ เตรียมมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงให้กับลูกค้าที่ยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้


“ธนาคารก็คุยกับลูกค้าทุกวัน เขาก็บอกว่าเขาจะมาชำระหนี้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นจึงไม่มีใครกล้าประเมินอะไรทั้งนั้น เพราะประเมินไปก็ไม่ใช่ว่าจะถูก ที่ทำได้ก็คือวางแผนป้องกันความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่สมาคมธนาคารจะขอรอดูหลังจากหมดมาตรการพักหนี้ก่อนว่าหนี้เสียจะเป็นเท่าไหร่ และหวังว่าจะไม่กระทบการปล่อยสินเชื่อใหม่”


เร่งเครื่องส่งท้าย?...

เมื่อกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีเริ่มชัดเจน “สมคิด”ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SME ด้วยท่าทีที่ “เปลี่ยนไป”การสั่งงานให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เร่งสรุปแนวทางการดำเนินงานให้ได้ภายในสิ้นเดือนกรกฏาคม 2563 นี้  อีกทั้งยังสั่งให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินโครงการค้ำประกันเงินกู้ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งก็คือกรอบเวลาเดียวกัน


ท่าทีดังกล่าวนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดกรอบเวลาชัดเจน ต่างจากหลายๆ ครั้งที่มักใช้คำว่า “ได้สั่งการให้...”ทำให้หลายฝ่ายเดินออกจากห้องประชุมพร้อมข้อสังเกต “คาใจ” ประดุจจะเร่งสร้างผลงานให้ปรากฏ หรือ “เก็บงาน” ไม่ให้ใครมา “ชุบมือเปิบ”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X