> เคล็ดลับลงทุน >

26 มิถุนายน 2020 เวลา 14:32 น.

STGT ย่างก้าวสำคัญสู่ตลาดหุ้น ผลักดันธุรกิจเติบโตระยะยาว...

วางเป้าหมายในระยะยาว ที่จะขยายกำลังการผลิตขึ้นมาสู่ระดับ 100,000 ล้านชิ้นต่อปี ในปี 2575 ทำให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลกต่อไป และยังคาดหวังว่าจะแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกได้เมื่อกำลังการผลิตปรับขึ้นมามากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปี


ทันหุ้น-สู้โควิด : บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ STGTผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของไทย และเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เตรียมที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญ ที่จะเป็นปัจจัยผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน


STGT ภายใต้การนำทัพของ “จริญญา จิโรจน์กุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยถึงการนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ครั้งนี้ว่า เพื่อที่จะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการขยายธุรกิจให้มีการเติบโต เพราะมีการวางแผนเพื่อขยายกำลังการผลิต ในช่วงระยะยาว 12 ปีข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 33,000 ล้านชิ้นต่อปี จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2567 และในปี 2571 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 75,000 ล้านชิ้นต่อปี


ขยายกำลังผลิต

นอกจากนี้ได้วางเป้าหมายในระยะยาว ที่จะขยายกำลังการผลิตขึ้นมาสู่ระดับ 100,000 ล้านชิ้นต่อปี ในปี 2575 ทำให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลกต่อไป และยังคาดหวังว่าจะแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกได้เมื่อกำลังการผลิตปรับขึ้นมามากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปี เพราะปัจจุบันนี้กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ห่างจากบริษัทที่อยู่อันดับ 2 ประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้านชิ้นต่อปี


เงินที่ได้จากการระดมทุน นอกจากใช้ในการขยายกำลังการผลิตแล้ว บริษัทก็ยังนำไปใช้เป็นเงินลงทุน เพื่อติดตั้งระบบ SAPเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและฐานข้อมูลของบริษัท และบริษัทย่อยเพื่อใช้วางแผนทรัพยากรทางธุรกิจของแต่ละส่วนงานและทั่วทั้งองค์กร และเงินอีกส่วนจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงิน จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ลดลงมาต่ำกว่า 1 เท่า จากสิ้นไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1.86 เท่า  ทำให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ

เข้าตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ STGT จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน  444.78 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 1 บาท โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ราคาหุ้นละ 34 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าว มาจากการสำรวจความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบันหรือ Bookbuilding ในช่วงราคา 32-34 บาท พบว่านักลงทุนสถาบันให้ความสนใจในระดับราคา 34 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนมาก 

จะเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่นักลงทุนในวันที่ 23-25 มิถุนายน 2563 ได้แต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด


ลุ้นหุ้นเข้า SET100

นางสาวจริญญา คาดว่าเมื่อหุ้น STGT เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคปแล้ว มีโอกาสที่จะถูกนำเข้าคำนวณใน SET100 ได้เช่นกัน ขณะเดียวกันธุรกิจถุงมือยางก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะปัจจุบันนี้พฤติกรรมจองคนห่วงใยเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงเห็นได้ว่ามีการใช้ถุงมือยางมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ทำให้ความต้องการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยขณะนี้พบว่าในส่วนของบริษัทมีคำสั่งซื้อเข้ามาถึงกลางปีหน้าแล้ว


สัดส่วนการขายของบริษัทประมาณ 90% เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนในประเทศมีเพียง 10% เท่านั้น โดยตลาดต่างประเทศที่ส่งออกมีสัดส่วนเป็นภูมิภาคเอเชียประมาณ 40-45% , ยุโรป 20%, สหรัฐ 20% ส่วนที่เหลือเป็นภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกันก็วางแผนขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น แอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชียใต้ ที่กำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย


ยังมีโอกาสขยายอีกมาก

กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT เล่าว่า จากข้อมูลพบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและยุโรป จะมีอัตราการใช้ถุงมือยางต่อประชากรอยู่ที่ 100-150 ชิ้นต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศ ที่กำลังพัฒนาอย่างจีน มีอัตราการใช้ 10 ชิ้นต่อคนต่อปี, แอฟริกา จำนวน 4 ชิ้นต่อคนต่อปี และอินเดีย 6 ชิ้นต่อคนต่อปี ดังนั้นจึงมองว่ายังมีโอกาสที่จะขยายไปยังประเทศเหล่านี้ได้อีกมาก ซึ่งเป็น upside ในการเติบโตในอนาคต


ปัจจุบันนี้ STGTได้มีการจำหน่ายถุงมือยางไปทั่วโลกจำนวน 140 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 95 ประเทศ สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมถุงมือยางในตลาดโลก คาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตประมาณ 30% ซึ่งมากกว่าในช่วงปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้มีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี


เติบโต

นอกจากนี้มองว่าในปี 2564 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และหลายประเทศมีการระบาดรอบ 2 ขณะเดียวกันหากยังไม่มีวัคซีนรักษา ก็เชื่อว่าความต้องการถุงมือยางยังจะสูงเหมือนกับในปีนี้ได้ ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยางในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง


ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) ประเมินความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นับจากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้น ซึ่งมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของคนทั่วโลก นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก


ส่วนภาพรวมของผลดำเนินงานในปี 2562 ของ STGT มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184%


โดย STGT มีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ใช้เพาะปลูกยางพารา และโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X