> SET >

07 เมษายน 2020 เวลา 09:15 น.

จัดหนักฉีด1.7ล้านล้าน ระดมพลกู้เศรษฐกิจไทย

ทันหุ้น – สู้โควิด – รัฐบาลเสริมฟูกหนาอัดมาตรการเยียวยาเฟด 3 “สมคิด” แย้มอัดเต็มแม็กซ์ 10% ของจีดีพีหรือสูงกว่า รวมถึงช่วยผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง แย้มอุ้ม THAI ขณะที่ธปท.พร้อมออก พ.ร.ก. 2 ฉบับเล็งปล่อยซอฟต์โลนให้SME-อุ้มตลาดบอนด์ ด้านนักวิเคราะห์ชี้การใช้เม็ดเงินถึง 1.7 ล้านล้านบาทสอดคล้องทั่วโลก


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษรับหลักการในการออกมาตรการเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 ชุดใหญ่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครอบคลุม 3 กลุ่ม 1.ดูแลประชาชนและธุรกิจให้ครอบคลุมครบทุกส่วน, 2.ขับเคลื่อนมีกิจกรรมเศรษฐกิจไม่ให้หยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า, และ 3.ดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน เพื่อเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน 2563 นี้

ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะต้องใช้วงเงินประมาณ 10% ของ GDPหรือมากกว่า ซึ่งเบื้องต้นจะมาจาก 1.วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และ, 2.การกู้เงิน ผ่าน พรก.เงินกู้ โดยจะกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น


"มาตรการทั้งหมดเชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และภาคธุรกิจได้ว่าเราจะก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้ ภาคเศรษฐกิจจริงจะต้องคู่กับการเงินเสมอ ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในอนาคต เรายินดีจะทำให้ครอบคลุมและป้องกันไว้ก่อนเพื่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย"


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการเยียวยาระยะ 3 ดูแล แบ่งเป็น 1.กลุ่มประชาชน ดูแลเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการดูแล 2.ดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตรงนี้จะมีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขนำไปใช้ต่อสู้กับโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งจะดูแลเศรษฐกิจในระดับพื้นที่(โลคอลอีโคโนมี)   3.มาตรการดูแล ผู้ประกอบการที่มีภาระใหญ่จากการกู้ยืมเงิน และมาตรการช่วยสภาพคล่อง ส่วนวงเงินขนาด 9-10% ของจีดีพี ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ทั้งหมด เพราะต้องดูว่าสำนักงบประมาณจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาใช้ในมาตรการชุดที่ 3 เท่าไหร่ ส่วนที่เหลือจากงบประมาณ กระทรวงการคลัง ออกพ.ร.ก.กู้เงินมาใช้ และส่วนหนึ่งเป็นการใช้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า คลังพร้อมช่วยเหลือสภาพคล่องให้การบินไทย (THAI) เนื่องจากมองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ THAI นั้นเป็นแค่ชั่วคราว


ธปท.เสริมมาตรการเงิน


ด.ร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.เพื่อจัดทำโครงการซอฟท์โลน (Soft Loan) พิเศษโดยตรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเงินของ ธปท.เอง, 2.เพื่อให้ ธปท.สามารถเข้าซื้อไปตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด (Roll over) บริษัทที่ดีเพื่อหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชน โดยจะเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19


ก.พลังงานเพิ่มมาตรการเยียวยา


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุ ในส่วนของกระทรวงพลังงานเสนอ ครม. เพิ่มเติมมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 อีกชุด ทั้งลดต้นทุนค่าไฟแก่ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม, ลดอัตราสำรองน้ำมันดิบจาก 6% โดยระยะแรก ลดสำรองเป็น 4% ระยะเวลา 1 ปี และระยะที่สอง สำรองเป็น 5% หลังจาก 1 ปีเป็นต้นไป พร้อมกับขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามกฎหมายที่ 1% ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564) เพื่อบรรเทาผลกระทบภาคประชาชนและเอกชน คาดมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม


จับตาจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย


นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ ณ สถานการณ์ปัจจุบันทั้งรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยล้วนตระหนักว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงว่าที่ประมาณการณ์ไว้ที่ -5.3% จึงเตรียมพร้อมเครื่องมือทั้งการเงิน, การคลัง, รวมถึงมาตรการทุกภาคส่วน เข้ามาพยุงเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย สำหรับวงเงินที่เตรียมไว้ประมาณ 10% ของ GDP น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (GDP ไทยอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) ถือว่าสอดคล้องกับวงเงินที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นใช้ในการพยุงเศรษฐกิจในประเทศ


ทั้งนี้คาด SET index เดือนเมษายนมีแนวโน้มผันผวนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ รวมถึงกระแสข่าวต่างๆ คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,100-1,200 จุด กลยุทธ์การลงทุน สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงแนะนำเก็งกำไรประมาณ 20% ของพอร์ต ในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจำกัดอาทิ ADVANC, BJC, TU, CPF, และ RATCH


“มองว่ารัฐบาลตระหนักว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่ธปท.ประมาณการ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว โดยเดือนเมษายนนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก จึงคาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะยังคงผันผวนตามกระแสข่าว ดังนั้นการลงทุนต้องเพิ่มความระวัง”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X