> SET >

07 เมษายน 2020 เวลา 08:41 น.

พิษโควิดQ1แบงก์วูบ ธปท.อุ้มลดเงินสมทบ

ทันหุ้น – สู้โควิด – พรีวิวผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2563  กลุ่มธนาคาร คาดกำไรลดลง 4% QoQ และ 25% YoY สะท้อนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19แต่งบดุลแข็งแกร่งรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลงได้ดี ด้าน ธปท. โดดช่วยหั่นการนำเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เหลือ 0.23%เป็นเวลา 2 ปี


บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2563  ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าอ่อนตัวลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 4/2563 (QoQ) โดยประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563  ของธนาคารจะลดลง 1% QoQ และ 17% YoY ถ้าตัด TMB และ TCAP ซึ่งผลประกอบการจะถูกบิดเบือนโดยการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้างธุรกิจออกไป กำไรจะลดลง 4% QoQ และ 25% YoY จาก 1.การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในรูปของ management overlay เพื่อสะท้อนผลกระทบที่อาจได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ต่อคุณภาพสินทรัพย์, 2. NIM ลดลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงรวม 0.5% ในไตรมาส1


3. อัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวลง โดยต้นปีถึงเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวได้ 0.5%, 4.Non-NII ลดลง มีสาเหตุมาจากการจัดชั้นค่าธรรมเนียม upfront fee ในการให้สินเชื่อใหม่เป็นรายได้ดอกเบี้ยที่ทยอยรับรู้ภายใต้มาตรฐานบัญชี TFRS9 และ 5.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง แต่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะสูงขึ้น


ทั้งนี้ประเมินกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะลดลง 27% ในปี   เนื่องจากเราคาดว่าสินเชื่อจะหดตัวลง 2%, NIM จะลดลง 20 bps, non-NII จะลดลง 18%และ credit cost จะเพิ่มขึ้น 25 bps


ย้ำงบดุลแข็งแกร่ง


แม้แนวโน้มกำไรของกลุ่มธนาคารดูอ่อนแอ แต่ธนาคารกลับมีงบดุลที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลง ไม่เหมือนกับวิกฤตการเงินปี 2540กลุ่มธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ณ สิ้นปี 2562 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.32% (16.1%เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1) แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา และสูงกว่า 9.23% สิ้นปี 2540อย่างมาก นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารก็มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก (และเงินกู้ยืม) ณ สิ้นปี 2562 ที่ 92.6%ต่ำกว่าระดับ 134.8% ณ สิ้นปี 2540อย่างมาก สะท้อนถึงสภาพคล่องจำนวนมาก


ขณะที่อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อ (LLR coverage) ณ สิ้นปี 2562อยู่ที่ 154% ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารต่างๆ มี LLR ส่วนเกิน ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาลง โดย ธปท.ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อ การกันเงินสำรอง เงื่อนไขการชำระหนี้ และขยายระยะเวลาชำระคืน สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลง จนถึงเดือนธันวาคม 2565 ดังนั้นการนำมาตรฐานบัญชี TFRS9มาใช้ในไตรมาส 1/2563  ทำให้ธนาคารมีตัวเลือกที่จะตั้งสำรองส่วนขาด (รวมผลกระทบจากโควิด-19) ในส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่องบกำไรขาดทุน


ณ ปัจจุบันหุ้นกลุ่มธนาคารมี Valuation ถูก แต่ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงมุมมองไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19จะสามารถควบคุมได้เมื่อใด ธนาคารต่างๆ จึงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงขาลง หลักๆ ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์เลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่มธนาคารเนื่องจากมีงบดุลแข็งแกร่งที่สุด ราคาเหมาะสม 200 บาทคาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 4.55%


@ธปท.ลดเงินกองทุนFIDF


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมจะผ่อนปรนให้สถาบันการเงินลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมอัตรา 0.46%เหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินนำไปลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆ ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ


นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินว่า การลดเงินสมทบกองทุน FIDF ลง ไม่ได้ช่วยธนาคารพาณิชย์มากนัก เปรียบเสมือนการลดดอกเบี้ยให้ 0.23% ถือว่าเป็นยาที่ไม่แรงนัก พร้อมกับประเมินงบไตรมาส 1/2563 จะลดลงพอสมควร แต่ไตรมาส2/2563 อาจจะลดลงมากกว่า ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ต้องติดตาม ไตรมาส1 อาจจะไม่ขยับมาก แต่เชื่อว่าไตรมาส 2จะสูงขึ้นพอสมควร แม้ราคาหุ้นแบงก์จะลดลงมามากสะท้อนไปแล้ว จากทั้งปัจจัยโควิด เศรษฐกิจ และการลดอันดับเครดิต แต่ก็ยังต้องติดตามว่าสถานการณ์โควิดจะลากยาวแค่ไหน ไตรมาส 2ต้องติดตามประเด็น NPL เป็นหลัก


@จ่อขึ้น XD สัปดาห์นี้


จากเว็บไซด์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่าระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน มีธนาคารพาณิชย์และบริษัทลิสซิ่งทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD หลายแห่งประกอบด้วย BFIT ขึ้น XD วันที่ 7 เม.ย.ปันผล 2.25บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 23เม.ย., หุ้นที่ขึ้น XD วันที่ 8 เม.ย.ประกอบด้วย BAM ปันผล 1.05บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 24 เม.ย., BAY ปันผล 0.45 บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 23เม.ย., KTB ปันผล 0.753บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 23 เม.ย., และ TMB ปันผล 0.01บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 24 เม.ย.หุ้นที่ขึ้น XD วันที่ 9 เม.ย.ประกอบด้วย CIMBT ปันผล 0.005 บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 24เม.ย., KBANK ปันผล 4.50บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 30 เม.ย., และ SCB ปันผล 4.00บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 22 เม.ย., หุ้นที่ขึ้น XD วันที่ วันที่ 15เม.ย.ประกอบด้วย S11 ปันผล 0.28บาทต่อหุ้น วันจ่ายปันผล 30 เม.ย.

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X