> SET >

30 มีนาคม 2020 เวลา 08:00 น.

กู้เงิน2แสนล้านสู้โควิด คลังลุยมาตรการเฟส3

ทันหุ้น – สู้โควิด – “ดร.สมคิด” เล็งออกพ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท เยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” ด้าน “ดร.อุตตม” เร่งคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 อัดเงินเสริมแกร่งฐานราก ด้านนักวิเคราะห์ชี้ช่วยเพิ่มงบประมาณ หนุน MTC, SAWAD แนะสะสม หุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะ ได้รับผลกระทบจำกัด BJC, MAKRO, ADVANC, INTUCH, BGRIM


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงิน (พ.ร.ก.กู้เงิน) กว่า 2 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากการเกลี่ยงบประมาณปี 2563 มาใช้ในภาวะวิกฤติ ต้องทำผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณอาจทำให้เกิดความล่าช้า


นายสมคิด ยอมรับว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้หนักกว่าครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง แม้ว่าอัตรา GDP จะที่กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินจะติดลบ 5.3% น้อยกว่าปี 2540 ก็ตาม แต่ครั้งนั้นประชาชนกลุ่มฐานรากไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ครั้งนี้ได้รับผลกระทบหมด ซึ่งหากรัฐบาลจะมีมาตรการชุดใหญ่ออกมา ต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ให้ถือเอาวิกฤติครั้งนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น


"งบประมาณที่จะใช้ยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบก้อนใหญ่พอสมควร กระทรวงการคลังเตรียมตัวเรื่องนี้มาเป็นเดือน วงเงินอาจจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหา ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ส่วนเรื่องการเกลี่ยงบประมาณปี 2563 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำผ่าน พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ"


นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้ศึกษาแนวทางการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน และพร้อมที่จะดำเนินการทันทีเมื่อถึงเวลาเหมาะสม โดยรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3  วัตถุประสงค์หลัก เพิ่มขีดความสามารถเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังแรงงานเดินทางกลับบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก


“แม้รัฐบาลจะให้การดูแลด้วยมาตรการการเงินระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานในชุมชนให้ประชาชนมีรายได้ โดยมีการประสานกับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งเข้ามาให้การช่วยเหลือด้านการกระจายสินค้าจากระดับชุมชนออกสู่ตลาด”


เดินหน้าลงทุนตามกรอบ


แหล่งข่าวในกระทรวงการคลัง ระบุ การที่รัฐบาลเร่งออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมนำเงินดังกล่าวมารองรับการใช้จ่ายในมาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน  โดยไม่กำหนดจำนวนผู้ได้รับสิทธิดังกล่าว


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ใม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถนำเงินงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2563 มาใช้ได้อย่างเพียงพอ ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง และมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย


หนุนนอนแบงก์ทางอ้อม


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุ การจัดหาเงินอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่ขาดรายได้ในระยะสั้น  ให้มีศักยภาพในการผ่อนชำระสินเชื่อ และใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงการจัดหาสินเชื่อไม่มีหลักประกันระยะสั้นเข้ามาเสริมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้นอกระบบ ทำให้สภาพคล่องของภาคครัวเรือนดีมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินก็ลดลง เป็นผลบวกต่อหุ้น MTC และ SAWAD แนะนำ เก็งกำไรระยะสั้น


สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 นั้น นายณัฐชาต คาดการณ์ว่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มฐานราก เมื่อสถานการณ์ “โควิด-19” คลี่คลาย คาดว่าการจ้างงานจะฟื้นตัวช้ากว่าความต้องการมีงานทำของกลุ่มแรงงาน, ลูกจ้างรายวัน ดังนั้นการสร้างงานในชุมชนจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด


สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายณัฐชาต ระบุ นักลงทุนรอ 1.สถิติการรักษาตัวสะสมในโรงพยาบาลของจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ลดลง, 2.อัตราการขยายตัว GDP เริ่มฟื้นตัว ซึ่งหาก GDP ไทยต่ำสุดในงวดไตรมาส 2/2563 และสามารถฟื้นตัวได้ในงวดไตรมาส 3/2563 ก็อาจจะเห็นดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นสะท้อนความเชื่อมั่นดังกล่าวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน แนวรับเดอืนเมษายนอยู่ที่ 940 จุด และแนวต้าน 1,130 – 1,200 จุด


ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนหาจังหวะการเข้าซื้อสะสมหุ้นที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” ในกรอบจำกัด, รวมถึงหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของกองทุน SSF รูปแบบใหม่ที่จะออกมาในเดือนเมษายนนี้ คือ 1. กลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะจะได้ผลดีจากการกักตุนสินค้าของประชาชน นอกจากนั้นยังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงถัดไปจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศ อาทิ BJC, MAKRO

2. กลุ่มสื่อสารที่มีเงินปันผลสูง อาทิ ADVANC, INTUCH 3. กลุ่มโรงไฟฟ้าอาทิ BGRIM, GPSC, GULF, EGCO, RATCH, และ 4.กลุ่มอาหารที่เห็นการฟื้นตัวของกำไร อาทิ CPF

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X