> เป้าลงทุน หุ้นคาร์บอนต่ำ > SCB

26 มีนาคม 2020 เวลา 12:20 น.

EIC ประเมิน กนง. ยังมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยอีก 25 bps ภายในไตรมาส 2ปีนี้

EIC ทันหุ้น – สู้โควิด - EIC ประเมิน กนง.มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 25 bps ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จากเศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวรุนแรงมากในช่วงไตรมาสที่ 2รวมถึงภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัวค่อนข้างมากจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้น corporate spread ที่เพิ่มขึ้น และสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลง


EIC ประเมิน กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 bps ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยมีเหตุผลดังนี้


เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงและมากกว่าที่คาด โดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่ -5.3% ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย ซึ่ง EIC มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมยังมีความจำเป็นเพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศต่อไป เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไทยที่ตึงตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนระบาดของ COVID-19ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น


· อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น : ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ด้วยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะติดลบถึง 1% ในปี2563  (ตามประมาณการของ ธปท.) ทั้งจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงมากเช่นกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายหักลบด้วยคาดการณ์เงินเฟ้อ) จะปรับสูงขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยในปัจจุบันคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะอยู่ที่ 1.75%


· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและ corporate spread ปรับสูงขึ้น :โดย EIC ประเมินว่าแม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและ coportate spreads จะเริ่มลดลง หลังจากมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับในช่วงต้นเดือน ก.พ. ปี 2563 (หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1%) พบว่าทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและ corporate spread ปรับสูงขึ้น (โดยเฉพาะกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB) ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อน risk-premium ของสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านหุ้นกู้มีต้นทุนในการระดมทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้มีความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ในภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องลดลง


·ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง :แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ล่าสุดจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่หากเทียบกับในช่วงสิ้นปี 2562พบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังปรับลดลงถึง 32% ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและครัวเรือน รวมถึงทำให้ความมั่งคั่งลดลง (wealth effect) ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ยังทำให้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ (Iinitial Public Offering: IPO) ของหลายบริษัทได้ถูกเลื่อนออกไป ซึ่งสะท้อนถึงความล่าช้าเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงแหล่งทุนนั่นเอง


·สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาก : โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี2562  ขยายตัวที่ 2% ชะลอลงจากปี 2018 ที่ขยายตัวถึง 6% (รูปที่ 1) ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอีกค่อนข้างมากในภาวะที่อุปสงค์ในประเทศหดตัวลงและความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ สถาบันการเงินมีแนวโน้มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น


·ความไม่แน่นอนจากต่างประเทศสูงขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากไทย : ด้วยความเชื่อมั่นที่ลดลงทั่วโลกส่งผลให้ตลาดเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น สภาพคล่องในตลาดเงินโลกลดลง และราคาสินทรัพย์ทางการเงินปรับลดลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย. พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยทั้งสิ้น 9.9 หมื่นล้านบาทนับจากต้นปี 2563 และไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ถึง 1.1 แสนล้านบาทนับจากต้นปี2563


มติการคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ (4 ต่อ 2 เสียง, กรรมการ 1 ท่านลาประชุม) โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ย 25 bps. สะท้อนว่าในสมาชิก กนง. ยังมีมุมมองที่ประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถทำได้ โดย EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงจากทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัวดังกล่าวจะมีสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ผลกระทบของ COVID-19ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากที่สุด ซึ่งน่าจะทำให้ กนง. ยังมีโอกาสพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 25 bps


ในระยะต่อไป EIC มองว่า มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะยังมีความจำเป็น EIC ประเมินว่า มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่ ธปท. ได้ออกมาล่าสุดนั้น เป็นการลดภาระด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อทั้งรายจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการและครัวเรือนยังต้องเผชิญอยู่คือการขาดหายไปของรายได้ (income shock) และอุปทานของสินค้า/บริการที่ชะงักไป (supply disruption) 


ซึ่ง EIC ประเมินว่า เพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมโดยเฉพาะมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19ซึ่งอาจพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการที่ออกไป เพิ่มวงเงินมาตรการเดิม หรือการขยายขอบเขตผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ เป็นต้น


อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิ๊ก https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิ๊ก https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิ๊ก https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิ๊ก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิ๊ก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิ๊ก https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิ๊ก https://twitter.com/thunhoon1


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X