> SET >

25 มีนาคม 2020 เวลา 07:30 น.

หุ้นชอบพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ค้าปลีกได้ดีปากท้อง

ทันหุ้น – สู้โควิด – นากยกฯ งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตีกรอบประชาชนหยุดเคลื่อนย้าย หวังหยุดการแพร่ระบาดเชื้อ โควิด-19ด้านก.คลังแจกเงินแรงงานนอกระบบประกันสังคม 5พันบาท 3 เดือน ควบคู่ปรับลดวงเงินนำส่ง – ส่งเงินสมทบประกันสังคม ด้านนักวิเคราะห์มองตลาดชอบความชัดเจน คาดดัชนีผันผวนกรอบ 950-1,110 จุด แนะเก็งกำไร CPALL, BJC, PTT, ADVANC และ MAKRO ในกรอบ


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26มีนาคม 2563 ส่วนมาตรการต่างๆจะประกาศอีกครั้งและจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ โดยจะดำเนินการทั้งขอความร่วมมือและบังคับบ้าง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระยะที่ 2เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชน ดังนี้ สนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5 พันบาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม อาทิ ลูกจ้าง, ลูกจ้างชั่วคราว, และอาชีพอิสระ   สินเชื่อฉุกเฉิน 1หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1%ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน, สินเชื่อมีหลักประกันวงเงิน 5 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน  ให้สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2 พันล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยกับประชาชนไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน


ยืดระยะเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาท เป็น 25,000บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์  ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ออกไป 3 เดือน และให้ปรับลดการจ่ายเงินสมทบจาก 4% ลงเหลือ 1%เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ จากก่อนหน้านี้ที่ให้ปรับลดการจ่ายเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างจาก 5%เหลือ 4%


@ตลาดชอบความชัดเจน


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่า เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26มีนาคม 2563ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะตอบรับในเชิงบวก สำหรับมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายระยะสั้นให้กับแรงงานนอกระบบประกันสังคม 5 พันบาทต่อรายเป็นระยะเวลา 3เดือน รวมถึงมาตรการยืดระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ถือเป็นปัจจัยบวกอ่อนๆ ต่อกลุ่ม Consumer Staple อาทิ CPALL, BJC, และ MAKRO


“มองว่าตลาดฯ ต้องการความชัดเจนดังนั้นคาดว่าตลาดจะตอบรับเชิงบวกหากพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ ส่วนมาตรการด้านการเงิน-การคลังมองเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”


นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย จะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทย-ทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19อย่างไรก็ตาม รัฐบาล-สถาบันการเงินไทย, รัฐบาล-สถาบันการเงินในประเทศสำคัญทั่วโลก จะมีมาตรการเข้ามารองรับอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นวานนี้ (24 มีนาคม) ที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงมีมาตรการทางการเงิน-การคลังระยะที่ 2ออกมา แต่เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 950-1,110จุดไป ถึงปลายเดือนเมษายน


พร้อมกันนี้แนะนำนักลงทุนหากสามารถรับความเสี่ยงได้ สามารถเข้าลงทุนในกรอบดัชนีข้างต้น ในหุ้น ADVANC ราคาเหมาะสม 226.46 บาทคาดอัตราการจ่ายเงินปันผล 4.34%, PTT ราคาเหมาะสม 49.50 บาท, และ CPALL ราคาเหมาะสม 80 บาท สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนออกไป


@เปิดปมสภาพคล่องหาย


นายทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเทขายพันธบัตร และหุ้นเกิดจากสภาพคล่องของโลกวันนี้หายไป โดยที่ผ่านมานักลงทุนได้กู้เงินเข้ามาใช้ในการลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการ Leverage ด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ออกตราสารก็เป็นการใช้หนี้มาลงทุน ซึ่งสภาพคล่องของโลกได้หายไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ดังนั้นเมื่อเกิดความไม่แน่นอน โดยมีโควิด-19เป็นปัจจัยเร่ง ทำให้สินทรัพย์ต่างๆ มีมูลค่าลดลง และมีการเรียกเงินคืน ซึ่งก็จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ออกไป ขณะที่ผู้ออกตราสารหากโควิดกระทบกำไร ต้องถูกลดเครดิตก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก จึงต้องระมัดระวัง

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X