> SET >

24 มีนาคม 2020 เวลา 07:30 น.

เซอร์กิตอีกกลัวเสี่ยง! ลุ้น2วันเลิกตระหนก

ทันหุ้น-สู้โควิด-หุ้นไทยทรุดหนัก 9.12% ประเดิมใช้เกณฑ์ใหม่เซอร์กิตเบรกเกอร์ ภาวะกลัวเสี่ยงระบาดทั้งหุ้นตราสารหนี้ ขณะที่แรงขายตราสารหนี้ยังมีต่อเนื่อง ไม่สนมาตรการรองรับคาด 2 วันนิ่ง  นายกฯบลจ.เสนอให้กองทุนกู้ซื้อตราสารหนี้เพิ่ม ด้านก.ล.ต.เดินหน้าปลดล็อกซื้อหุ้นคืนไม่ต้องเว้น 1 ปี “PTTGC-BANPU-RS” เข้าข่าย


ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดวานนี้(23 มีนาคม) อยู่ที่ 1,024.46 จุด ลบ 102.78 จุด หรือ 9.12% มีมูลค่าการซื้อขาย 59,677.79 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างวันภาคบ่ายดัชนีปรับตัวลง 8% ทำให้มีการใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ หยุดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที  


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงเกิดจากการที่ไทยปิดสถานทีหลายแห่ง แต่การปรับระดับเซอร์กิตเบรกเกอร์ลดลงเหลือ 8% ช่วยชะลอการร่วงของดัชนีได้ และกำลังมีหลายมาตรการที่กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้นยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพ และยืนยันไม่ปิดตลาดหลักทรัพย์ นอกเหนือจากหยุดตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 


นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล. เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การที่ตลาดหุ้นไทยลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นการลงแบบตกใจ แต่เป็นการค่อยๆ ซึมลงจนติดเซอร์กิตเบรกเกอร์ ดังนั้นจึง แนะนำรอสถานการณ์และถ้ามีหุ้นกลุ่มอิงท่องเที่ยว ธนาคารห้างสรรพสินค้าที่ถูกสั่งปิด กลุ่มการบิน ควรลดพอร์ต เนื่องจากขณะนี้เกิดภาวะความกังวลความเสี่ยง (RISK OFF) ต่างชาติมีการขายทั้งพันธบัตร ตราสารหนี้ และ หุ้น และ มีการประเมินว่าไทยอาจจะต้องปิดประเทศตามชาติอื่น ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติเร่งขายพันธบัตรออกมา


นายกฤษณ์ ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนรวมตราสารหนี้ วานนี้ (23 มี.ค. 63) ยังมีแรงขายตกค้างอยู่บ้าง จากความกังวลและตื่นตระหนกของนักลงทุน คาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีกราว 2 วัน สถานการณ์ก็จะนิ่ง เพราะมาตรการที่ออกมาเสริมสภาพคล่องให้กับ บลจ. จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน


  นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ( ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงสัปดาห์ 16-20 มีนาคม 2563 พบแรงขายกองทุนตราสารหนี้ออกมาค่อนข้างมาก ในกลุ่ม Short Term Bond มียอดเงินไหลออกสุทธิช่วง 12-20 มีนาคม ประมาณ -8.9 หมื่นล้านบาท และกลุ่ม Mid/Long Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิเกือบ -5 หมื่นล้านบาท รวม 2 กลุ่มเกือบ -1.4 แสนล้านบาท 


หากดูไปที่สถานการณ์ก่อนหน้านี้จะพบว่ามีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมากในระดับมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เมื่อ 12 มีนาคม ทั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ขายสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท  จึงเริ่มมีแรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมเป็นต้นมา  กระทั้ง 16 มีนาคมทั้งกลุ่มกองทุน Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond มีเงินไหลออกสุทธิ รวม 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นที่มาของการที่ ธปท. เข้าทำธุรกรรมเพื่อเสริมสภาพคล่องรวมกว่า 1 แสนล้านบาท และออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม พร้อมกับช่วยทางฝั่งธุรกิจให้สามารถระดมทุนต่อ (Rollover) ในช่วงที่สภาพคล่องยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ


ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยกับทันหุ้นว่า ได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้กองทุนสามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีก 30%ของ NAV เพื่อที่จะเข้าซื้อหน่วยลงทุนที่ถูกขาย ทำให้ผู้ที่ยังถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการซื้อสินทรัพย์ราคาต่ำ


  นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ระบุจะเร่งหารือร่วมกับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), และกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฯ  เพื่อปลดล็อก ให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ที่ซื้อหุ้นคืนแล้ว โดยไม่ต้องอีก 1 ปี ถึงจะซื้อหุ้นคืนได้ครั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ปรับตัวลงรุนแรง  


ด้าน เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุ จากการหารือกับบริษัทขนาดใหญ่หลายรายมีความต้องการซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้ แต่ไม่สามารถซื้อหุ้นคืนได้เพราะได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา กำลังแก้ไขกฎกระทรวงพาณิชย์เพื่อปลดล็อกตรงนี้ น่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาประคองตลาดฯได้ในภาวะที่ทุกคนตื่นตระหนกของนักลงทุน


**บจ.ที่มีโอกาสซื้อหุ้นคืนหลังปลดล็อค


จากการรวบรวมข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าในปี 2562 มีบจ.ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน ประมาณ 15 บริษัท โดยมีบริษัทมีประมาณ 7 บริษัทที่สิ้นสุดโครงการซื้อหุ้นคืนแล้ว พบว่ามีบริษัทขนาดใหญ่ ประกอบด้วย PTTGC ซึ่งในปีก่อน ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 3,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นไม่เกิน 50 ล้านหุ้นหรือ 1.1%และ  BANPU ปีที่แล้ว ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นไม่เกิน 385 ล้านหุ้นหรือ 7.5%


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)หรือ BANPU ระบุ บริษัท บริษัทฯ จะต้องรอพิจารณาว่ากฎเกณฑ์ที่จะปรับนั้นเอื้อต่อการบริหารด้านการเงินของบริษัทฯ อย่างไร ขณะที่บริษัทฯ เพิ่งจบโครงการซื้อหุ้นคืนไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 256


ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่าการที่ภาครัฐจะปลดล็อคข้อกำหนดการซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญจะต้องดูว่าบจ.นั้นๆ มีความพร้อมที่จะซื้อหุ้นคืนหรือไม่ และจากการประเมินพบว่าการซื้อหุ้นคืนนั้นจะเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น 


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X