> SET > UAC

24 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 07:30 น.

ถอดรหัส3รมต.ปั้นชาติ ย้ำทุกโครงการเดินต่อ

ทันหุ้น- 3รัฐมนตรี คมนาคม-พลังงาน-ดีอี ประกาศหนุนเอกชนปั้นชาติ "ศักดิ์สยาม" เร่งปลดล็อคการลงทุนหลังงบ 63 ชี้มีโครงการในมือเพียบ เตรียมอีก 12โครงการเข้า ครม. ด้าน "สนธิรัตน์" ลั่นดันบริษัทจดทะเบียนลงทุนใน-นอก ร่วมฟื้นรากหญ้า ดันเซกเตอร์พืชพลังงาน ขณะที่ "พุทธิพงษ์" ตั้ง ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ดึงยักษ์UASเข้าไทย 3หมื่นล้านบาท ดัน5G


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานก้าวสู่ปีที่ 17 ของหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้นโดยมั่นใจว่างบประมาณปี 2563 จะมีการเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน และจะเห็นการลงทุนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมกับฉวยโอกาสเข้ามา ในภาวะที่ประเทศเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะ EEC ที่มีความคืบหน้าทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน  สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน


ทั้งนี้คมนาคมมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จํานวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1,947,310ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ประเภท 1. โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 18 โครงการ วงเงิน 782,212ล้านบาท 2. โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมดําเนินการ 11 โครงการ วงเงิน 404,680ล้านบาท อาทิ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ใช้เงินกองทุน TFF เริ่มดําเนินการก่อสร้างปี 2563 โครงการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางสายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย- เชียงของ คาดว่าจะเริ่มดําเนินการก่อสร้างปี 2563


3. โครงการที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 2โครงการ เริ่มดําเนินการก่อสร้างปี 2564 ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอํา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ 4. โครงการที่จะนําเสนอคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไป 12 โครงการ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลําโพง และบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร


@ พลังงานพร้อมดันเอกชน

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายพลังงานนับเป็นส่วนสำคัญของตลาดหุ้น และมีนโยบายที่จะผลักดันพลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานของ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ บริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. หรือ การไฟฟ้า ซึ่งเป็นหลักในการผลักดันในไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียน จากนโยบาย ศูนย์กลางของการซื้อขายพลังงานในอาเซียน (Energy Hub)หรือเทรดเดอร์ ซึ่งจะทำให้จากนี้ไทยสามารถที่จะพัฒนาการผลิตและการนำเข้าได้ โดยไทยเป็นประเทศที่มีสายส่งดีที่สุด แต่ปัจจุบันเรามีไฟฟ้าเกิน 30% ดังนั้น PDPจึงขยับไม่ได้ แต่ถ้าไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า มีศักยภาพในด้านต้นทุนที่แข่งขันได้ ก็จะทำให้ลงทุนต่อได้ ส่วน ปตท. จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ซึ่งตามแผนไตรมาส3ปีนี้จะมีการซื้อขายLNGในภูมิภาคเป็นครั้งแรก


กลุ่มที่2 คือ กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องการที่จะขยายความเข้มแข็งนำประเทศไปสู่การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในระดับภูมิภาค


และกลุ่มที่ 3 คือ นโยบาย Energy for all ต้องการให้พลังงานลงมาถึงเศรษฐกิจฐานราก โดยต้องการจะทำให้กลุ่มธุรกิจพืชพลังงานมีความเข้มแข็ง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจากการบังคับใช้น้ำมัน B10  ซึ่งทำให้ซัพพลายและดีมานด์ปาล์มสมดุล จากนี้จะขับเคลื่อนนโยบายการบังคับใช้ แก๊สโซฮอล์E20 เป็นพื้นฐานและจะถอด 91 ออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มเอทานอลได้ถึง20 ล้านลิตร ส่งผลดีต่อมันสำปะหลังและอ้อย และกำลังศึกษาใช้ใบอ้อยสดมาผลิตไฟฟ้า


และมีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนจะรับซื้อไฟฟ้า700MW ที่จะทำให้เกิดเซกเตอร์พืชพลังงานเป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน นอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จากซัพพลายเกิน เพราะจะทำให้เกษตรกรตัดต้นยางทิ้งและหันมาปลูกไม้โตเร็วเข้าโรงไฟฟ้า


ทั้งนี้ทิศทางของกระทรวงพลังงานเน้นไปสู่ไฟฟ้า โดยจะได้มีการผลักดันการจูงใจการตั้งแท่นชาร์จรถอีวี ขณะที่คลังจะมีการพิจารณาใส่แรงจูงใจ


@ ดีอี ปั้นโครงสร้างพื้นฐาน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ระบุว่า กระทรวงพร้อมที่จะวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งไทยมีเคเบิลใต้น้ำเป็นอันดับ1ดีกว่าภูมิภาค รวมกับการพัฒนาเพิ่มเติม จึงมองว่าจากนี้ไปไม่เกิน 1 ปี ไทยจะเป็นดิจิทัลฮับภูมิภาคอาเซียนได้ พร้อมกันนี้ยังจะเดินหน้าสร้าง ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ในศรีราชา เพื่อเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย โดยโครงการนี้ใช้เวลาราว 2 ปีครึ่ง เริ่มก่อสร้างแล้ว 3 เดือน โดยได้มีการพบปะเชิญชวน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีแล้ว เบื้องต้นมี 2 รายที่กำลังพิจารณาเข้ามาลงทุนมูลค่ารวม 3 หมื่นล้าน


พร้อมกันนี้ยังเตรียมตัวในทักษะที่จำเป็นอย่างเทคโนโลยี (Re-skill) และการเสริมทักษะใหม่ (Up-skill) ให้กับแรงงานไทย ให้มีความสามารถมากขึ้น เบื้องต้นได้มีการดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ


ส่วนการดำเนินด้านบิ๊กดาต้าของรัฐบาลนั้น ได้มีการจัดทำตามเซกเตอร์ อาทิ การท่องเที่ยว สาธารณสุข แรงงาน ซึ่งพอมีข้อมูลมารวมกัน ซึ่งเอกชนสามารถจะวิเคราะห์เพื่อดำเนินธุรกิจได้


ขณะเดียวกันยังพร้อมสนับสนุน 5G เป็นความตั้งใจที่จะเป้นจุดพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงมือถือ แต่ยังเป้นส่วนสำคัญของระบบ AI , IOT ตลอดจนrobotic ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจไทยมีศักยภาพแข่งขัน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X