> SET > RATCH

19 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 12:18 น.

RATCH วางกลยุทธ์ซื้อโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้ว, ตั้งงบลงทุนปีนี้ 2 หมื่นลบ.

สำนักข่าว"ทันหุ้น"รายงานว่า RATCH วางกลยุทธ์มุ่งเน้นการลงทุนแบบซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้ว โดยจะลงทุนดรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาประมาณ 5 โครงการ รวมทั้งศึกษาการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมที่เป็นธุรกิจ New S-Curve และเตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) ระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ ด้วย  วางเป้าหมายกำลังการผลิตปีนี้เพิ่ม 780 เมกะวัตต์(MW)  พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท 


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ RATCH เปิดเผยว่า ในปี 2563 มุ่งเน้นการลงทุนแบบซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้วและโครงการประเภท Brownfieldsมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่ากิจการได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้ามาช่วยทดแทนรายได้จากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้ด้วย 


สำหรับเป้าหมายการลงทุนในปีนี้ ประกอบด้วยโครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น โครงการโรงไฟฟ้าประเภท SPP และโครงการโรงไฟฟ้า Independent Power Supply  ส่วนในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน  โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และพลังงานทดแทน โดยประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ เวียดนาม สปป. ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการประเภท PPP ของภาครัฐ และธุรกิจ New S-Curve ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีๆใหม่ รวมทั้ง Internet of Things ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ


“ในปีนี้ บริษัทฯ คาดหมายว่าจะสามารถสรุปการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศได้ประมาณ 5 โครงการ ส่วนการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทฯ เข้าร่วมประมูลในนามกิจการร่วมค้า BGSR คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในกลางปีนี้ สำหรับเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ ได้รวมกำลังการผลิต 720 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้แล้ว โดยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังการผลิต 714 เมกะวัตต์ ที่ได้ลงทุนแล้วจะเข้ามาทดแทนกำลังผลิตดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทสำหรับสานต่อโครงการที่ลงทุนไว้แล้วและการซื้อกิจการเพิ่มในปีนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น 8,715.07 เมกะวัตต์” นายกิจจา กล่าว    


ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2562 โครงการโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2562 รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1 ในอินโดนีเซียที่ได้ลงทุนเมื่อปลายปี 2561 และโครงการพลังงานลมเมาท์เอเมอรัล ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อปลายปีเดียวกัน บวกกับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2562 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6.7% เป็นจำนวน 5,963.28 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.11 บาท ขณะที่กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้และอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เป็นจำนวน 9,996.24 ล้านบาท  สำหรับปี 2563 บริษัทฯ มุ่งเน้นการลงทุนแบบซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้วและโครงการประเภท Brownfieldsมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่ากิจการได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้ามาช่วยทดแทนรายได้จากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้ด้วย      


บริษัทฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 2 /2563 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติจ่ายเงินปันผลปี 2562 หุ้นละ 2.40 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 3,480 ล้านบาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 9 เมษายน 2563   ทั้งนี้ เมื่อวันที่  20 กันยายน 2562 โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 (งวดเดือนมกราคม - มิถุนายน 2562) แล้ว


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X