> เป้าลงทุน หุ้นคาร์บอนต่ำ >

18 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 13:40 น.

อีไอซี ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1%, มอง Q4/62 ขยายตัวต่ำสุด

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวที่   1.6%YOY ชะลอลงจาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.4% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ  5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา


ตัวเลข GDP ล่าสุดบ่งชี้ถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น สะท้อนจากหลายภาคเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะ Technical Recession แล้ว เช่น การส่งออก การลงทุนภาครัฐ การบริโภคสินค้ายานยนต์ สาขาก่อสร้าง และภาคเกษตร 


อีไอซี ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์  COVID-19 มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้เดิม ผ่านการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทยอีกด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยเพิ่มเติมได้


เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวชะลอลงที่ 1.6%YOY จาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยนับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส เป็นผลมาจากการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่หดตัวจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ทั้งนี้การเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ sa) พบว่าขยายตัวที่ 0.2% เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า 

สำหรับทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ของอีไอซีเล็กน้อยที่ 2.5% เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ยังรับแรงกดดันจากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง และผลกระทบจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563


มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -5.1%YOY จากการหดตัวของทุกหมวดสินค้าสำคัญด้านการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวจากสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวจาก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เช่น น้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน โดยการส่งออกที่ลดลงทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงหดตัวเช่นกันที่ -8.6%YOY ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกที่ลดลง


ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐหดตัว สำหรับการบริโภคภาครัฐหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสที่ -0.9%YOY เนื่องจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง -6.9%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -5.1%YOY ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัว -6.1%YOY และ -1.9%YOY ตามลำดับ


ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4.1%YOY จากสินค้าคงทนเป็นสำคัญ โดยการบริโภคสินค้าคงทนพลิกหดตัว -4.1%YOY หลังการขยายตัวที่ 1.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการหดตัวของยอดขายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วยสนับสนุนให้การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และบริการให้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 2.7%YOY, 2.6%YOY, และ 8.5%YOY ตามลำดับ


การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 2.6%YOY เร่งขึ้น จากการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม อาคารเพื่อการบริการและการขนส่ง และอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดยานยนต์มีการชะลอตัวตามปริมาณการจดทะเทียนรถใหม่ในประเทศ ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ลดลง โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการ LTV ในด้านการผลิต (Production Approach) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการหดตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การก่อสร้างและภาคเกษตรพลิกหดตัว

การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ -2.3%YOY ลดลงจาก -0.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า จากหลายสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก อาทิ การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ โลหะ น้ำมันสำเร็จรูป ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก


สาขาการก่อสร้างหดตัวที่ -1.9%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.7%YOY โดยปัจจัยสำคัญมาจากการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง เนื่องจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2020 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของโครงการต่อเนื่อง สำหรับการก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารเพื่อการบริการและขนส่งมีการขยายตัว


ภาคการเกษตรหดตัวที่ -1.6%YOY หลังจากขยายตัวที่ 2.7%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตเกษตรสำคัญปรับลดลง เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน


อย่างไรก็ดี โรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.8%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.7%YOY โดยได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวที่ 6.4%YOY รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล เช่น มาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน


สาขาการขายส่ง ขายปลีกขยายตัวที่ 5.2%YOY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการชิมช้อปใช้ ขณะที่สาขาการขายและซ่อมแซมยานยนต์มีทิศทางชะลอลงตามยอดขายและการผลิตยานยนต์

ตัวเลข GDP ล่าสุดบ่งชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ GDP ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ techinical recession แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว (รูปที่ 3) โดยแม้ว่าในภาพรวม GDP จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession)[1]แต่ก็ถือว่ามีอัตราเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว (QOQ sa) ที่ต่ำมาก (ขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2562) และหากพิจารณาในรายภาคเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีหลายสาขาการผลิตที่เข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ 


ส่วนของเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ technical recession แล้ว คือการก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามีการพ้นภาวะ technical recession แล้วหลังจากมี %QOQ sa ติดลบติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวยังคงเปราะบาง โดยมีการขยายตัวเพียง 0.1% QOQ sa

อีไอซีประเมิน อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยช่วง Q1/2020 (%YOY) จะชะลอลงอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19 และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนจากตัวเลข PMI ของหลายประเทศสำคัญที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง (รูปที่ 4) 


อย่างไรก็ดี หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ทำให้อีไอซีคาดว่าโรคระบาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย (รูปที่ 5) ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และภาวะการค้าโลกที่จะชะลอลง ทั้งที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาการผลิตและขนส่งสินค้าจากจีนที่หยุดชะงัก (supply chain disruption) ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ COVID-19 ยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย เนื่องจากมีความตื่นกลัวโรคระบาด[2]

ทั้งนี้จากการประเมินของอีไอซีในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์ COVID-19 จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ. งบประมาณพึ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563) ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในระยะถัดไป


จากตัวเลขเร็ว (High frequecy data) ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศรรายวันล่าสุดที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2563 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1% จากการติดตามจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยผ่าน 5 สนามบินหลัก พบว่าในช่วงวันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ 2563 นักท่องเที่ยวหดตัวไปแล้วกว่า -45%YOY ซึ่งลดลงมากกว่าคาดการณ์เดิมของทางอีไอซีที่ -30.8%YOY (รูปที่ 6) อีไอซีจึงมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ (lowest draw-down)

นอกจากนี้ ยังคาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากลักษณะของ COVID-19 ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย สะท้อนจากผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการกลับมาเดินทางอีกครั้ง จึงทำให้อีไอซีปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -7.1%YOY จากประมาณการเดิมที่ประมาณ 38 ล้านคน (-4.6%YOY) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1% (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 2020 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป

อีไอซีคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2020  จากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดขึ้น และอาจหันไปพึ่งมาตรการด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

· กนง. ให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจรอประเมินผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ทั้ง ธปท. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างมาก ทั้งในรูปของ


1. การผ่อนคลายมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่ดำเนินการ ผ่อนคลายมาตรการ LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลื่อนการบังคับใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (Debt Service Ratio: DSR)


2. มาตรการส่งเสริมและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs


3. มาตรการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ทั้งการปรับกฎเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้ และการโครงการ refinance ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารออมสิน


4. มาตรการที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ทั้งในรูปแบบของมาตรการด้านภาษี และการขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ภาคธุรกิจเพิ่มเติมและให้หยุดพักชำระหนี้


ด้วยมาตรการที่มีออกมาค่อนข้างมากนี้ อีไอซีจึงมองว่า กนง. อาจต้องการรอประเมินผลจากมาตรการเหล่านี้ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นนโยบายที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง


ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) และประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายมีลดลง กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 1.00% เป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอีไอซีมองว่า กนง. อาจประเมินว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะมีผลจำกัดในการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มหันมาออมเงินมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง 


นอกจากนี้ อีไอซียังมองว่า ประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมต่อภาคเศรษฐกิจไทยอาจมีไม่สูงมากเท่าในอดีต เนื่องจาก ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อก็มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก


อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า มีโอกาสสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง


1. ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง กล่าวคือ หากการระบาดของ COVID-19 ยาวนานกว่าที่คาดและส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้


2. เสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง จากการสื่อสารของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กนง. หันมาให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินในด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น (ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง. ให้ความสำคัญต่อการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและภาคธุรกิจมากกว่า) อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินลง จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป


อีไอซี ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมที่ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลก


1. ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเกินดุลน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม : โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงมาก ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงมากกว่าที่อีไอซีได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยอีไอซีได้มีการปรับประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2563 เป็นเกินดุลราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.7% ต่อ GDP (ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 6.1% ต่อ GDP) ความต้องการเงินบาทจึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โดยการศึกษาของอีไอซี พบว่า ในช่วงที่มูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย การแข็งค่าของเงินบาทมักชะลอลงหรือปรับอ่อนค่าได้(รูปที่ 8 ซ้ายมือ)

สำหรับสาเหตุที่ดุลบัญชีสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ค่อนข้างสูงแม้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากนั้น เนื่องจากการเกินดุลการค้ายังอยู่ในระดับสูง (มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก เนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าสินค้าพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนลดลงความต้องการภาคเอกชนภายในประเทศ (ทั้งการบริโภคและการลงทุน) รวมถึงการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ลดลงตามการชะลอตัวของการส่งออก)


2. เงินดอลลาร์สหรัฐ อาจไม่อ่อนค่าลงเท่าที่คาดไว้เดิม : ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ปรับลดลง ทั้งจากสงครามการค้า สถานการณ์ Brexit และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ลดลง จึงทำให้นักลงทุนลดความกังวลลง 


อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจาก COVID-19 ส่งผลให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับลดลง ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น(กลับมาเกิด risk-off sentiment) ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) และความต้องการถือเงินดอลลาร์จึงกลับมาสูงขึ้น (รูปที่ 8 ขวามือ) เงินดอลลาร์สหรัฐ จึงอาจไม่กลับไปอ่อนค่าได้ดังที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นปัจจัยต้านไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้มากนัก


สำหรับในระยะสั้น (2 ไตรมาสแรกของปี 2020) อีไอซีมองว่า เงินบาทจะยังเคลื่อนไหวผันผวนและยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลกระทบของ COVID-19ที่จะรุนแรงที่สุดในช่วงสองไตรมาสแรก และ 2) ปัจจัยเชิงฤดูกาลที่พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาสสอง (รูปที่ 9)

ที่มา    

ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดเงิน

พนันดร อรุณีนิรมาน  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

จิรายุ โพธิราช นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)   


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X