> SET > ADVANC

05 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 07:50 น.

ประมูล5Gแข่งขันไม่สูง ต้นทุนต่ำกว่า4G 10เท่า

ทันหุ้น – 5 ค่ายยื่นซองครบ 16 ก.พ.นี้ระเบิดศึกชิงคลื่น 5G นักวิเคราะห์จับตาศึกชิงคลื่น 2600 MHz ระบุ CAT ตัวแปรสำคัญ แต่เชื่อแข่งขันไม่รุนแรง แถมเงื่อนไขจ่ายเงินยืดหยุ่นไม่กระทบกระแสเงินสด ดันต้นทุน 5G ถูกกว่า 4G 10 เท่า แนะ “ซื้อ” ทั้งADVANC เป้า243 บาท,DTAC เป้า 66.07 บาท, และ TRUE เป้า 6 บาท


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) สรุปจำนวนผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700เมกะเฮิรตซ์ (MHz),1800 MHz,2600 MHz และ 26 กิกะเฮิรตซ์(GHz) ว่า มีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทั้งหมด จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT, และบริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 


สำหรับการประมูลครั้งนี้ กสทช. ได้นำคลื่นออกมาประมูล ทั้งหมด 4 ย่านคลื่น ได้แก่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26GHz รวมทั้งหมด 56 ใบอนุญาตขั้นตอนหลังจากยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563, เริ่มชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 และ 14 กุมภาพันธ์  2563 โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563


ALTออกโรงหนุน CAT

บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT แจ้งว่า บริษัทฯได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีกับ edotco Group SdnBhd (edotco) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ซึ่ง CAT จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5G โดย ALT และ edotcoเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมชั้นนำในระดับประเทศและระดับภูมิภาค


ทั้งนี้ ALT จะให้การสนับสนุนในงานสร้างและซ่อมบำรุงสถานีฐาน และช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดภาระต้นทุนการบริหารให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การที่ ALT ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นพันธมิตรไตรภาคีนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐ


CAT เป็นตัวแปรคลื่น 2600 MHz

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์เบื้องต้นว่า TOT น่าจะมุ่งหวังประมูลคลื่นความถี่ 700MHz เพื่อนำมาทดแทนคลื่นความถี่ 850MHz ที่จะหมดอายุลงในปี 2568 จึงไม่น่าจะสร้างแรงกดดันในกาประมูลให้กับเอกชนทั้ง 3 รายคือ ADVANC,  TRUE, และ DTAC ที่มุ่งหวังประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz ได้ ทั้งนี้ต้องจับตา CAT ซึ่งมีกระแสเงินสดสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท หากต้องการประมูลคลื่น 2600 MHz แข่งกับภาคเอกชน จะเพิ่มแรงกดดันให้กับ DTAC ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเบื้องต้น DTAC อาจพิจารณาไปเลือกประมูลคลื่นความถี่ 26GHz แทน


“มองว่า TOT มีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับหนึ่งเท่านั้น ตัวแปรที่หน้าจับตาคือ CAT เนื่องจากในอนาคตทั้ง 2 องค์กรนี้จะมารวมกัน ดังนั้นการประมูลจึงน่าจะแยกกันประมูลคลื่น และถ้า CAT เข้าประมูลคลื่น 2600MHz แข่งกับเอกชนก็จะกดดัน DTAC ทันทีเพราะทั้ง ADVANC และ  TRUE คงไม่ถอย ซึ่งหาก DTAC ยังคงต้องการคลื่นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G อาจพิจารณาไปเอาคลื่น 26GHz แทน”


เงื่อนไขชำระเงินไม่กดดัน

พร้อมกันนี้ นายพิสุทธิ์ คาดการณ์บรรยากาศการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ของเอกชนทั้ง 3 ราย ว่า บรรยากาศการแข่งขันไม่น่าจะรุนแรงเหมือนเมื่อครั้งการประมูลคลื่น 4G เนื่องจาก ณ ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G อยู่ระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในระยะ 2 ปีข้างหน้า แต่กต่างจากเทคโนโลยี 4G ที่เข้ามาในประเทศไทยช้ากว่าประเทศอื่นในโลก ดังนั้นเบื้องต้นคาดว่าเอกชนทั้ง 2 รายคือADVANC และ  TRUE แม้จะมีความต้องการคลื่นความถี่ 2600MHz แต่จะแข่งกันในระดับราคาที่เหมาะสมต่อการลงทุนโครงข่าย, อุปกรณ์, และเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ในอนาคต


ขณะเดียวกันเงื่อนไขการประมูลเทคโนโลยี 5G ที่ทางกสทช. ออกมาในครั้งนี้มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการกระแสเงินสดของภาคเอกชนมากขึ้น อาทิ 1. ราคาตั้งต้นคลื่นต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ คลื่น 2600MHz ราคาตั้งต้นอยู่ที่ 186 ล้านบาทต่อ 1MHz และคลื่น 26GHz ราคา 5.1 ล้านบาทต่อ 1MHz เทียบกับการประมูลคลื่น 1800MHz ในปี 2561 ที่ 2.5 พันล้านบาทต่อ 1MHz  อีกทั้งเงื่อนไขการผ่อนจ่ายค่าคลี่น 2600MHz ใน4 ปีแรกเพียง 10% ไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของผู้ประกอบการรวมถึง TRUE


ทั้งนี้ กสทช. คาดว่าการประมูล 5G ที่จะถึงนี้จะมีมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า ADVANC จะจ่าย 1.5 หมื่นล้านบาท DTAC จ่าย 7.8 พันล้านบาท TRUE จ่าย 1.3 หมื่นล้านบาท TOT จ่าย 423 ล้านบาท และ CAT จ่าย 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนคลื่นที่น่าจับตามองคือคลื่น 2,600 MHz ถ้าจบที่ราคาตั้งต้นจะถูกกว่าราคาตลาดโลกกว่า 10% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการอย่างมาก


หากการประมูล 5G ได้บทสรุปใกล้เคียงเช่นนี้จริง จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารพุ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการจะมีภาระต้องจ่ายรายปี 5-6 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซี่งเป็นราคาที่ถูกกว่า 4G กว่า 10 เท่า และจะทำให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเหลือเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์จึงยังคงคำแนะนำเชิงปัจจัยพื้นฐาน “ซื้อ” ทั้งADVANC ราคาเหมาะสมที่243 บาท,DTAC ราคาเหมาะสมที่ 66.07 บาท, และ TRUE ราคาเหมาะสมที่ 6 บาท


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X