> SET > ADVANC

03 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 07:30 น.

จับตาแบงก์ชาติฉีดยาแรง หั่นดบ.0.5%-ชูหุ้นปันผล

ทันหุ้น- ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมิน กนง. ลดดอกเบี้ย 5 ก.พ. อย่างน้อย 0.25%โด๊บเศรษฐกิจ แถมมีโอกาสฉีดยาแรงลดดอกเบี้ยถึง 0.50% รวดเดียว หลังเจอพิษไวรัสโคโรนา งบล่าช้า ด้านแบงก์ชาติ-รัฐบาลรับสภาพปรับลดเป้าเศรษฐกิจ ด้านโบรกชี้ลดดอกเบี้ยจริงส่งผลบวกต่อหุ้นปันผล ADVANC-TISCO-KKP ตบเท้าเข้าลิสต์


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 5 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25%แต่ถ้าในกรณีที่ กนง. ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่ามีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทางเลือกในการพิจารณามี 2 แนวทาง ได้แก่ ทางเลือกแรก พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนกุมภาพันธ์ลง 0.25%และพิจารณาปรับลดเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือนมีนาคมอีก 0.25%หรือ ทางเลือกที่สอง พิจารณาปรับลดลงในคราวเดียวกันได้ถึง 0.50%จากระดับปัจจุบันที่ 1.25% มาอยู่ที่ 0.75%ต่อปี


@ปัจจัยเสี่ยงกดGDP

เนื่องจากในไตรมาสแรกของปี 2563ประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีเพิ่มเติมในจังหวะที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563มีแนวโน้มล่าช้า ทำให้เครื่องมือทางการคลังจะยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มที่ จึงต้องอาศัยนโยบายการเงินให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยประเมินว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5%ของ GDP นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภาวะภัยแล้งที่กดดันกำลังซื้อของเกษตรกร และการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังต้องรอเม็ดเงินใหม่ๆ จากงบประมาณประจำปี 2563


ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญความเสี่ยงระดับสูง แม้ว่าทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคส่งออก แต่ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนในปี 2563ก็คาดว่า จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 5.5%-5.9%นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจอื่นๆ ที่พึ่งพิงการส่งออก-นำเข้าจากจีนสะดุดไปด้วย ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยได้


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเลือกขนาดและจังหวะเวลาในการปรับลดดอกเบี้ย หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เข้ามาเสริม ซึ่งการตัดสินใจในแต่ละทางเลือกคงขึ้นอยู่กับการประเมินภาพสถานการณ์เศรษฐกิจไทยถึงความจำเป็นและเร่งด่วน รวมถึงการชั่งน้ำหนักของผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบคอบ


@ธปท.-รัฐบาลจ่อลดเป้าศก.

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส1/2563 จะได้รับผลกระทบจาก ไวรัสโคโรนา และงบประมาณที่ล่าช้า โดย การประชุม กนง. ในวันที่ 5กุมภาพันธ์จะมีการทบทวนตัวเลขอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563อีกครั้งส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 4/2562 ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น


ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า จากรายงานของคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.สภาพัฒน์ ประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2562และประมาณการ GDP ปี 63 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.7-3.7%เนื่องจากเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งปัญหาภัยแล้ง การระบาดของไวรัสโคโรนา และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า โดยเฉพาะงบลงทุน 6แสนล้านบาทไม่สามารถเดินหน้าได้ ดังนั้นต้องมีการเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งจะนำเสนอในรอบถัดไปโดยจะเน้นการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ


@ตัวท็อปปันผลรับประโยชน์

นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยยังคงเชื่อว่า ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่หากมีการลดดอกเบี้ยขึ้นมาก็จะถือว่าเป็นการเซอร์ไพร์สตลาดซึ่งจะส่งผลดีต่อดัชนีหุ้นไทยในภาพรวมที่จะปรับขึ้นไปได้ จากส่วนต่างผลตอบแทนตลาดหุ้นเทียบกับพันธบัตรที่สูงขึ้น (Earning Yield gap) จากปัจจุบันอยู่สูงมากกว่า 5% ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันจากผลตอบแทนด้านดอกบี้ยที่ต่ำ ก็จะส่งผลดีให้เม็ดเงินไหลมาสู่ หุ้นปันผลต่างๆ โดยแนะนำหุ้นที่มีอัตราปันผลสูงเช่น ADVANC TISCO KKP


ขณะที่หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ลิสซิ่งก็จะได้รับผลดีในด้านต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง ส่วนส่งออกอาจจะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า สำหรับอสังหาริมทรัพย์ปัจจัยด้านดอกเบี้ยลดลงอาจจะส่งผลดี แต่ก็ต้องติดตามในกำลังซื้อ และความสามารถในการกู้ด้วยเช่นกัน

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X