> เป้าลงทุน หุ้นคาร์บอนต่ำ >

31 มกราคม 2020 เวลา 12:06 น.

เจาะลึกประมูลคลื่น 5G ...ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร-ใครได้-ใครเสีย

สำนักข่าว"ทันหุ้น"รายงานว่า บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)  วิเคราะห์การประมูลคลื่น 5G ที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนก.พ.นี้ ว่าคลื่นใด จะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุด รวมถึงคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะออกมาจะออกมาในรูปแบบใด และผู้ประกอบการในแต่ละรายจะมีผลเป็นอย่างไร


บล.หยวนต้า ได้ออกบทวิเคราะห์ กลยุทธ์รับมือการประมูลคลื่น 5G  ซึ่งจะมีการประมูลในวันที่ 16 ก.พ.นี้ นับเป็น  highlight ประจำปีของกลุ่ม ICT  ปัจจัยที่ต้องจับตาวันสำคัญ ได้แก่ 1) วันสุดท้ายที่มีสิทธิเข้ารับเอกสารประมูลวันที่ 3 

ก.พ. 63 หากไม่มีผู้เล่นรายใหม่ ความเสี่ยงการแข่งขันจะเริ่มลดลง 2) วันที่ 4 ก.พ. 63 ผู้สนใจประมูลต้องเลือกคลื่นที่จะเข้าประมูล หาก CAT และ TOT เลือกคลื่น 2600MHz ความเสี่ยงการแข่งขันจะเพิ่มขึ้น หาก DTAC เลือกไม่เข้าประมูล ความเสี่ยงจะลดลง 3) วันประมูลคลื่นวันที่ 16 ก.พ. 63 จับตาผลลัพธ์การประมูลคลื่น หากออกมาในลักษณะแข่งขันแย่งคลื่น 5G อย่างรุนแรง หรือเกิดผู้เล่นรายใหม่จะเป็นลบต่อกลุ่ม แนะนำหลีกเลี่ยงไปก่อน แต่หากไม่เกิดผู้เล่นรายใหม่และเป็นเพียงการแบ่งคลื่น 2600MHz ในสัดส่วนที่เหมาะสม คาดหุ้นในกลุ่มจะทยอยฟื้นตัว เราให้น้ำหนักกับสมดุลตลาดมากกว่าราคาคลื่น


**Highlight อยู่ที่ 2600MHz 


คาด CAT จะมุ่งเอาคลื่น 700MHz ที่ให้ coverage เพื่อให้บริการในพื้นที่ขาดแคลนและเพื่อเป็นบริการพื้นฐานให้กับประเทศมากกว่ามุ่งแข่งขัน 5G ขณะที่ TOT อาจมุ่งเอาคลื่น 26GHz จาก budget ที่จำกัด คาดว่าคลื่น 2600MHz จะเป็นคลื่นเดียวที่ ADVANC DTAC และ TRUE สนใจในการประมูลรอบนี้ เพราะเป็นคลื่นที่เหมาะสมที่จะทำ 5G มากที่สุด 


คลื่น 2600MHz เปิดประมูลทั้งหมด 19 ใบ รวมปริมาณทั้งหมด 190MHz โดยผู้เล่นหนึ่งรายมีสิทธิประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 10 ใบ หรือ 100MHz อิงมาตรฐานโลก การทำ Standard 5G ต้องใช้คลื่นอย่างน้อย 80-100MHz หรือหมายถึง 8-10 ใบ ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาอาจเกิดขึ้น จาก Demand มากกว่า Supply แต่ไม่มากเพราะ 1) โอกาสประมูลคลื่น 3500MHz ที่เหมาะจะทำ 5G มากกว่าราว 300MHz ในระยะถัดไป และ 2) ความเสี่ยงของการเร่งลงทุนเร็วเกินไปยังสูง 


**ผลลัพธ์การประมูล ... สมดุลของตลาดสำคัญที่สุด 

          ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในการประมูลคลื่น 2600MHz คือ สมดุลตลาดและราคาคลื่น หากผลการประมูลแบ่งคลื่น 2600MHz ตามส่วนแบ่งการตลาดเดิม กล่าวคือ ADVANC ได้ใบอนุญาตมากสุด TRUE รองมา และ DTAC ได้น้อยสุด หรือ อาจเป็น CAT ในปริมาณไม่มาก ดุลยภาพตลาดหลังการประมูลจะไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการจะทยอยลงทุน 5G ตามความเหมาะสม ไม่แย่งส่วนการตลาดอย่างรุนแรง ทำให้ต้นทุนคลื่นอาจกระทบกำไรในปีแรก แต่จากนั้นผู้ประกอบการจะเริ่มทำกำไรกลับคืนตามการเติบโตของรายได้บนตลาด IoT แต่หากดุลยภาพตลาดเปลี่ยนไป เช่น TRUE ได้คลื่นมากกว่า ADVANC หรือ ผู้เล่นทั้งสองรายได้คลื่นไปครอง ขณะที่ DTAC ไม่ได้คลื่นเลย (อ่อนแอลงมาก)  จะเห็นการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาดในยุค 5G ที่รุนแรงตามมา ผู้เล่นทุกรายจะเร่งลงทุนโครงข่ายเร็วกว่าความจำเป็น กดดันทั้งกำไรและกระแสเงินสดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า


**ราคาคลื่น ... ลงทุนไม่เกิน 1.5-3.0 หมื่นล้าน พอรับไหว 

 

ราคาตั้งต้นคลื่น 2600MHz อยู่ที่ 1.86 พันล้านบาท/10MHz/ 1 ใบอนุญาต หรือคิดเป็นเงินลงทุนราว 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท สำหรับจำนวนคลื่น 80-100 MHz อย่างไรก็ดี การแข่งขันด้านราคาอาจทำให้เงินลงทุนสูงขึ้นไปถึงช่วง 3-4 หมื่นล้านบาท จากเทอมการจ่ายเงินที่ 5 ปีแรกจ่ายเพียง 10% แต่ยังมีโอกาสต่ำที่ operators จะสู้ทุกราคาเหมือนการประมูลในอดีต 

 

กรณีฐาน หาก ADVANC ลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท สำหรับคลื่น 2600MHz  10 ใบอนุญาต คาดกระทบกำไรปกติปี 2563 ของ ADVANC ราว 3% และราคาเหมาะสมราว 8 บาทต่อหุ้น ทำให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 252.00 บาทต่อหุ้น หากประมูลดุเดือดกว่านั้น ผลกระทบต่อกำไรจะมากขึ้น 


DTAC หากเลือกลงทุน 1.5 หมื่นล้าน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ประเมินราคาเหมาะสมที่ 61.00 บาทต่อหุ้น แต่หากเลือกไม่ลงทุน จะเป็นกรณีที่เลวร้ายกว่า เนื่องจากรายได้จะอ่อนแอกว่ากลุ่ม จนกว่าจะได้คลื่นมาบริการ 5G ในภายหลัง ราคาเหมาะสมจะเหลือ 55.00 บาทต่อหุ้น 


TRUE คาดลงทุนคลื่นรอบใหม่ที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท ในแง่ของกระแสเงินสดจะกระทบราคาเหมาะสมราว 0.50 บาทต่อหุ้น จากราคาเหมาะสมเดิมที่ 5.70 บาทต่อหุ้น แต่ในแง่ของกำไรผลกระทบจะรุนแรง เนื่องจากค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นราว 1.2 พันล้านบาทต่อปี กระทบต่อฐานกำไรปกติที่ต่ำอยู่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ หากประมูลมากกว่านี้ อาจหมายถึงการต้องรอกำไรปกติต่อไปอีกหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ขาด Catalyst หนุนราคาหุ้น


**16 ก.พ. 63 เปิดประมูลคลื่น 4 ย่านความถี่ จำนวนรวม 56 ใบอนุญาตฯ

กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ.63 จำนวนทั้งสิ้น 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 

          1) คลื่นความถี่ย่าน 700MHz จำนวน 2x15MHz เปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต อายุ 15 ปี ประมูลได้สูงสุด 3 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,638 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งออกเป็น 10 งวด งวดละ 10% 

          2) คลื่นความถี่ย่าน 1800MHz จำนวน 2x35MHz เปิดประมูล 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต อายุ 15 ปี ประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% งวดที่ 2 ชำระ 25% และงวดที่ 3 ชำระอีก 25%

          3) คลื่นความถี่ย่าน 2600MHz จำนวน 190MHz เปิดประมูล 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต หรือ 100MHz อายุ 15 ปี ต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท การชำระเงิน ปีที่ 1 จ่าย 10% ปีที่ 2-4 ยกเว้นยังไม่ต้องชำระค่าการประมูล ปีที่ 5-10 (งวดที่ 2-7) ชำระปีละ 15% แต่การจะได้เงื่อนไข Grace period ดังกล่าวต้องลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ EEC ให้ได้ coverage ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% ภายใน 1 ปี นับแต่ได้รับใบอนุญาต หากเลือกไม่ลงทุนตามเงื่อนไข จะไม่ได้รับ Grace period ต้องชำระเงิน 10% ตั้งแต่ปีที่ 1-10

          4) คลื่นความถี่ย่าน 26GHz จำนวน 2700MHz เปิดประมูล 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz อายุ 15 ปี ประมูลได้สูงสุด 27 ใบอนุญาต ต้องวางหลักประกันการประมูล 508 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลให้ชำระงวดเดียวภายในหนึ่งปีตั้งแต่ประมูล


เงื่อนไขการประมูลรอบนี้ ผ่อนคลายกว่าการประมูลในปี 2559-2562 

          เงื่อนไขการประมูลรอบนี้ ผ่อนคลายลงมากหากเทียบกับการประมูลในปี 2559-2562 ดังนี้

          1) ราคาตั้งต้นคลื่นต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ คลื่น 2600MHz ราคาตั้งต้นอยู่ที่ 186 ล้านบาท/MHz และคลื่น 26GHz ราคา 5.1 ล้านบาท/MHz เทียบกับการประมูลคลื่น 1800MHz ในปี 2561 ที่ 2.5 พันล้านบาท/MHz 

          2) เงื่อนไขการผ่อนจ่ายคลี่น 2600MHz 4 ปีแรกเพียง 10% ทำให้ผลกระทบต่อกระแสเงินสดลดลง

**วิเคราะห์ความต้องการคลื่น .... Highlight อยู่ที่คลื่น 2600MHz

คลื่น 2600MHz

          คลื่นที่เหมาะสำหรับทำ 5G คือคลื่น High band เช่น 2600MHz และ 3500MHz ดังนั้น highlight ของการประมูลคลื่นรอบนี้จึงอยู่ที่คลื่น 2600MHz ซึ่งเปิดประมูลทั้งหมด 19 ใบ รวมปริมาณทั้งหมด 190MHz โดยผู้เล่นหนึ่งรายมีสิทธิประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 10 ใบ หรือ 100MHz 

          อิงความเห็นจาก GSMA การใช้งาน 5G อย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้คลื่น 2600MHz ราว 80MHz และคลื่น 26GHz ราว 100MHz ดังนั้นหากอยากได้ 5G ตามมาตรฐานโลก ผู้ประกอบการจะต้องเข้าประมูลคลื่น 2600MHz จำนวน 8 ใบ และคลื่น 26GHz จำนวน 1 ใบ หรือเท่ากับลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท หากประมูลที่ราคาตั้งต้น อย่างไรก็ดี มูลค่าเงินลงทุนอาจสูงขึ้นไปอีก หากมีการแข่งขันด้านราคาในการประมูลทำให้ราคาตั้งต้นสูงขึ้นไปอีก


คลื่น 700MHz 

          ผู้ประกอบการทุกราย (ADVANC, DTAC, TRUE) มีคลื่นแล้วในมือคนละ 10MHz หลังเพิ่งรับคลื่น 700MHz ในช่วงกลางปี 2562 เพื่อแลกกับการได้ยืดจ่ายหนี้ 900MHz ที่ครบกำหนดปี 2563 เป็นสิ้นสุดปี 2568 (ตารางที่ 2) โดยคลื่นมีอายุใช้งาน 15 ปี เริ่มใช้งานในเดือนต.ค. 63 อย่างไรก็ดี ปัญหารบกวนจากสัญญาณไมโครโฟนที่ยังแก้ไขไม่ได้ ทำให้ กสทช. อาจเลื่อนการใช้งานออกไปอีก 2-3 เดือน ดังนั้นโอกาสต่ำที่ operators จะเข้าประมูลคลื่น 700MHz เพิ่มอีกในรอบนี้ เนื่องจากมีอยู่แล้วและคลื่นยังติดปัญหาพอสมควร นอกจากนี้การประมูลคลื่นรอบนี้ไม่มี Incentive การได้ยืดเทอมการจ่ายเงินคลื่นอื่นๆให้แล้ว แต่ราคาตั้งต้นเท่าเดิม ใครได้ไปถือว่าเสียเปรียบ

          อย่างไรก็ดี CAT และ TOT อาจมีโอกาสเลือกเอาคลื่น 700MHz โดยเฉพาะ CAT เพราะมีโครงสร้างคล้ายคลื่น 850Mz ที่ให้ TRUE เช่าใช้งานภายใต้สัญญา Wholesale-resale agreement อยู่ ซึ่งจะหมดอายุในปี  2568 นอกจากนี้ CAT และ TOT เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้นการมีคลื่นสั้นเพื่อให้บริการในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งจำเป็น


คลื่น 1800MHz

          คลื่น 1800MHz ส่วนนี้เป็นส่วนที่เหลือมาจากการประมูลรอบก่อนๆ ซึ่ง ADVANC, DTAC, และ TRUE เลือกไม่ประมูล เนื่องจากราคาตั้งต้นยังสูงเหมือนในอดีตและคลื่น 1800MHz ไม่เหมาะที่จะทำ 5G และหากพิจารณาว่าขนาดรอบการลงทุน 4G operators ยังไม่ยอมประมูลที่ราคาตั้งต้นสูงขนาดนี้ ทำให้มีโอกาสต่ำมากๆ ที่จะมีรายใดเข้าประมูลในรอบนี้


คลื่น 26GHz

          คลื่น 26GHz เป็นคลื่นที่ใหม่ต่อตลาด เนื่องจาก operators ยังไม่เคยมีประสบการในการใช้งานคลื่นที่มีความถี่สูงถึงย่านนี้ทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ สำหรับบริการในอนาคต คลื่น 26GHz อาจมีความจำเป็นสำหรับบริการที่ต้องการความรวดเร็วสูงและ latency ต่ำมาก แต่จะไม่ใช่ระดับ mass scale อย่างไรก็ดีราคาคลื่นที่ถูก ทำให้ operators อาจประมูลบ้างเพื่อต้องใช้งานในอนาคตให้ได้มาตรฐาน 5G โลก หรือเพื่อไว้สำหรับบริการดังกล่าวในอนาคต


**วิเคราะห์ Incentive ก่อนเข้าประมูลคลื่น

          ปริมาณคลื่นในมือก่อนเข้าประมูล 5G … เพียงพอให้บริการ 4G ไม่พอทำ 5G 

ก่อนเข้าประมูล 5G รอบนี้ ผู้ประกอบการทุกรายมีปริมาณคลื่นที่ใกล้เคียงกันราว 65-70MHz ต่อราย (ตารางที่ 3) คลื่นในปริมาณดังกล่าวเพียงพอรองรับบริการ 4G ไปอีก 2-3 ปี ข้างหน้าไม่ยาก ยกเว้น ADVANC ที่มีฐานลูกค้าเกือบสองเท่าของรายอื่น อาจจำเป็นต้องประมูลคลื่นเพิ่มเพื่อรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในบริการ 

          อย่างไรก็ดี ปริมาณคลื่นดังกล่าวไม่เพียงพอรองรับบริการ 5G ที่ผู้ประกอบการต้องการคลื่นราว 80-100MHz ต่อรายเป็น ในคลื่น high band ดังนั้นความจำเป็นต้องเข้าประมูลจึงขึ้นกับความต้องการนำเสนอบริการ 5G ของ operators หากเร่งนำเสนอ จำเป็นต้องประมูลคลื่น หากค่อยๆลงทุน และใช้ 5G เป็นตัวเสริม ไม่จำเป็นต้องเร่งลงทุนหนัก

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอยู่ในโครงสร้างที่แตกต่างกับการประมูลรอบก่อน ดังนี้ 

          1) การประมูลคลื่นในยุค 4G ADVANC และ DTAC เข้าประมูลคลื่นอย่างไม่มีทางเลือก เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากคลื่นสัมปทานมาสู่ระบบ Licensing หากไม่ได้คลื่นจะมีความเสี่ยงสูญเสียลูกค้าและทำให้บริการมีปัญหาได้ ทำให้ต้นทุนการไม่ได้คลื่นแตกต่างจากรอบนี้อย่างมีนัยสำคัญ

          2) ก่อนเข้าประมูล 4G ADVANC และ DTAC ถูก TRUE แย่งส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดให้บริการ 4G ก่อนคู่แข่ง ทำให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายมีความจำเป็นต้องเร่งลงทุนโครงข่ายเพื่อหยุดการไหลของลูกค้า อย่างไรก็ดี ก่อนการประมูล 5G รอบนี้ ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในระดับสมเหตุสมผล DTAC กลายเป็นผู้เล่นเบอร์ 3 ที่ยังทำกำไรได้ดี TRUE มี scale ในระดับที่ทำกำไรได้แล้ว เพียงแต่ต้องลดต้นทุน ขณะที่ ADVANC ที่เป็นผู้นำตลาดย่อมอยากรักษาสภาวะตลาดมากกว่าทุ่มลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด

          3) ประเทศไทยเข้าสู่ 4G ในช่วงท้ายๆของโลก ต้นทุนอุปกรณ์ถูกลง มือถือจำนวนมากพร้อมรองรับแล้ว และมี Ecosystem ที่พร้อมรองรับการเติบโตของรายได้ ต่างกับการลงทุน 5G  ในรอบนี้ ที่ประเทศไทยเลือกลงทุนเป็นประเทศต้นๆของโลก มาตรฐานด้านอุปกรณ์ ราคาอุปกรณ์ และมือถือที่รองรับยังมีได้จำกัดและมีราคาสูง (Iphone11 ยังไม่รองรับ 5G) หากเร่งลงทุนหนักเกินไป อาจได้เปรียบคู่แข่งในแง่การตลาด แต่เสียเปรียบหนักในแง่ต้นทุนเงินลงทุน

          4) ผู้ประกอบการทุกรายมี Incentive ร่วมกันที่จะยืดอายุการใช้งาน 4G หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพิ่งลงทุนหนักไปทั่วประเทศ หากเร่งใช้งาน 5G เต็มที่จะทำให้บริการ 4G ลดคุณค่าลง

          5) ตลาดยังไม่มีกรณีศึกษาที่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากบริการใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นในยุค 5G เช่น บริการผ่าตัดทางไกล บริการเงินสด ทำให้มีความเสี่ยงด้านการเติบโตรายได้หากรุกตลาดหนักเกินไป

          สุทธิแล้ว เชื่อว่า operators จะประมูล 5G เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐให้ไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ระดับโลก แต่จะเลือกลงทุนเท่าที่จำเป็น เนื่องจาก Ecosystem 5G ยังไม่พร้อม และการ rollout จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เร่งลงทุนทั่วประเทศเหมือนในอดีต โอกาสการแข่งขันราคาอย่างสุดตัวเหมือนในอดีตต่ำ เมื่อประกอบกับเงื่อนไขการจ่ายเงินที่ผ่อนปรนและราคาตั้งต้นของคลื่นที่ลดลง ทำให้คาด Operator บริหารจัดการกำไรและกระแสเงินสดผ่านพ้นช่วงลงทุน 5G ไม่ยาก


**ภาพระยะกลาง ยังมีคลื่น 3500MHz ราว 300MHz ... รออยู่

          เชื่อว่า Operators จะพิจารณาโอกาสประมูลคลื่นอื่นๆในอนาคต ประกอบการตัดสินใจเข้าประมูลด้วย คลื่นสำคัญที่เหมาะสมสำหรับทำ 5G มากกว่าคลื่น 2600MHz ซึ่งเป็นคลื่นลูกผสมระหว่าง 4G-5G ได้แก่ คลื่น 3500MHz ซึ่งเหมาะสมที่จะทำ 5G มากกว่าบนมาตรฐานโลก

          คลื่นในช่วง 3500MHz ถูกใช้งานภายใต้สัมปทานของ THCOM ซึ่งจะหมดลงในเดือน ก.ย.ปี 2564 บนปริมาณคลื่นมากถึง 300MHz ขณะที่ กสทช. ส่งสัญญาณชัดเจนอยากนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลก่อนหมดสัมปทาน ดังนั้นผู้ประกอบการที่พลาดการประมูลรอบนี้ ก็ยังมีโอกาสประมูลคลื่น 3500MHz ในระยะถัดไป แต่ต้องไปเสี่ยงกับราคาตั้งต้นที่อาจไม่ต่ำเหมือนรอบนี้ก็เป็นได้ และ timeline การประมูลคลื่นของประเทศไทยที่มีความไม่แน่นอนสูง


**Scenario การประมูลที่อาจเกิดขึ้น 

          คลื่น 2600MHz 19 ใบ แต่มี Operators หลัก 3 ราย หากทุกรายต้องการมาตรฐาน 80MHz-100MHz จะเท่ากับ demand ที่มากกว่า supply ทันที ซึ่งหมายถึงการแข่งขันด้านราคา

          นอกจากนี้ CAT อาจเป็นตัวสอดแทรก ในคลื่น 2600MHz ได้ โดยอาจเลือกประมูลบางส่วนเช่นกัน ดังนั้นเราเชื่อว่าสุทธิแล้ว คลื่น 2600MHz มีโอกาสถูกแข่งขันพอสมควร

          ประเมินสองปัจจัยหลักที่อาจกระทบการแข่งขัน คือ TRUE หาก TRUE เลือกประมูลคลื่น 2600MHz ที่ 6 ใบ เท่ากับอุตฯ มองว่าบริษัทฯยังเลือกมุ่งทำกำไร แต่หากบริษัทฯเลือกกลยุทธ์ประมูลคลื่นมากกว่าคู่แข่ง จะสะท้อนความตั้งใจกลับมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดอีกครั้งในยุค 5G จะกระทบต่อภาพรวมทั้งกลุ่มให้น่าสนใจลดลง 

          ขณะที่ DTAC ซึ่งมักเลือกลงทุนเท่าที่จำเป็น อาจประมูลคลื่นจำนวนไม่มากเท่าค่าเฉลี่ย หรือ สู้ราคาต่ำเท่านั้น ทำให้การแข่งราคาอาจไม่รุนแรงก็เป็นได้

          CAT มีโอกาสอยากได้คลื่น 2600MHz เพิ่ม จากคลื่น 700MHz แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประมูลทุกราคา เพื่อทำ 5G แข่งกับเอกชน เนื่องจาก CAT มีข้อด้อยกว่าในการบริหารจัดการ แม้ CAT ได้คลื่นไปในราคาสูงจำนวนมาก โอกาสแข่งขันกับเอกชนในระยะยาวก็ยังต่ำในมุมมองของเรา นอกจากนี้การลงทุนจำนวนมากต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น เราคิดว่า CAT ก็จะลงทุนตามแผนงานอย่างสมเหตุสมผล


**คาดผลลัพธ์การประมูลออกเป็น 3 กรณี 

กรณีที่ 1) แบ่งคลื่น 2600MHz ตามส่วนแบ่งการตลาด ในราคาที่ไม่แพง

          กรณีที่ดีที่สุด การแบ่งคลื่นเป็นไปตามส่วนแบ่งการตลาดเดิม ในราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้นไม่มากนัก ในกรณีนี้ โครงสร้างตลาดจะไม่เปลี่ยนแปลงหลังการประมูล เช่น ADVANC ได้คลื่น 2600MHz 8 ใบ TRUE ได้ 8 ใบ DTAC หรือ CAT ได้ 3 ใบ  หรือ ADVANC ได้คลื่น 8 ใบ TRUE ได้ 6 ใบ DTAC หรือ CAT 5 ใบ เป็นต้น 

          หากเกิดกรณีนี้ ต้นทุนค่าคลื่นจะเพิ่มขึ้นกดดันให้ตลาดปรับลดประมาณการกลุ่มลงตามค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นในปีแรก แต่ในระยะถัดไป ผู้ประกอบการจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบริการใหม่ๆใน 5G นอกจากนี้โครงสร้างตลาดที่สมดุลจะทำให้ไม่มีการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาดรุนแรงอีก

          กรณีที่ 2) แบ่งคลื่น 2600MHz ตามส่วนแบ่งการตลาด มีการแข่งขันราคาที่พอรับได้

          กรณีที่สอง ใกล้เคียงกรณีแรก แต่ตลาดแข่งขันรุนแรงขึ้นในด้านราคา ทำให้ผลกระทบจะมากขึ้น แต่ยังได้เก็บเกี่ยวประโยชน์ในภายหลังเช่นเดิม

          กรณีที่ 3) มีผู้เล่นที่ไม่ใช่ ADVANC ทุ่มแย่งคลื่น 2600MHz มากกว่าผู้นำตลาด 

          กรณีนี้ โครงสร้างตลาดจะเปลี่ยนไป โดย 5G จะทำให้เกิดการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาดรอบใหญ่อีกครั้ง ยกเว้น CAT เป็นผู้ได้คลื่นไปจำนวนมากไม่น่ากลัว เพราะยังขาดความสามารถในการบริหารจัดการและโครงข่ายเทียบกับเอกชน แต่หาก TRUE ได้ไป เท่ากับ TRUE ไม่สนใจกำไร แต่มุ่งมั่นแย่งส่วนแบ่งการตลาดรอบใหม่อีกครั้ง การจะเกิดกรณีที่ 3 ได้ เราเชื่อว่าราคาคลื่นจะแข่งขันรุนแรง เพราะรายที่จะชนะ ADVANC ต้องทุ่มตลาด


**ผลลัพธ์การประมูล และราคาเหมาะสมของหุ้นในกลุ่ม

ADVANC: ฐานทุนและฐานกำไรแข็งแกร่งเกินกว่าจะต้องกลัวการประมูล 5G

          คาดว่า ADVANC จะแย่งคลื่นอย่างน้อย 80MHz จากศักยภาพการเงินที่แข็งแกร่ง และ ประสบการณ์ในอดีตที่ปล่อยให้ TRUE เปิดบริการ 4G ก่อน  ทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด เชื่อว่า ADVANC คงไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับการประมูล 5G 

          หากสมมติให้ ADVANC ชนะคลื่นที่ราคาตั้งต้น จะเท่ากับเงินลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท แต่หาก ADVANC ต้องจ่าย 1.7x ของราคาตั้งต้น (ต่ำกว่ากรณีตลาดไต้หวัน เพราะผู้เล่นน้อยกว่าและตลาดไทยยังมี 3500MHz ให้ประมูลอีกในอนาคต) เงินลงทุนอาจไปถึง 3.2 หมื่นล้านบาท 

          อิงเงินลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท จะกระทบราคาเหมาะสมหลังคิดลดกระแสเงินสดราว 8 บาทต่อหุ้น และกระทบกำไรปกติปี 2563 ราว 3% ทำให้กำไรลงมาอยู่ที่ระดับ +/-3.4 หมื่นล้านบาท (+5.6% YoY) และทำให้ราคาเหมาะสมปรับเป็น 252 บาทต่อหุ้น (DCF WACC 7.4% T.G. 2%) ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือโครงสร้างตลาดไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

          DTAC: การไม่เข้าประมูลอาจมีต้นทุนหนักกว่าการเข้าประมูลคลื่นบางส่วน

          หาก DTAC ไม่เข้าประมูลคลื่น 5G รอบนี้ ในระยะยาวอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง จากคลื่น 2600MHz เป็นคลื่นผสมระหว่าง 4G-5G และใกล้เคียงกับคลื่น 2300MHz ที่ DTAC ใช้งานอยู่ ขณะที่คลื่น 3500MHz จำนวนถึง 300MHz มีโอกาสถูกนำมาประมูล หลัง THCOM จะหมดสัมปทานใน 3Q64 ซึ่งคลื่น 3500MHz เหมาะสมที่จะทำ 5G มากกว่า นอกจากนี้การลงทุนในปี 2564 หลัง Technology 5G นิ่งขึ้น และมี Ecosystem สนับสนุนที่ดีขึ้น มีความเสี่ยงต่ำกว่าการเร่งลงทุนทันทีในปี 2563 พอสมควร เหมาะสำหรับการบริหารงานของ Telenor ที่เน้นกำไร 

อย่างไรก็ดี การไม่เข้าประมูลมีต้นทุนเพราะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไม่ยอมลงทุนอีกครั้งต่อตลาด ในระยะสั้น DTAC อาจไม่สามารถนำเสนอ 5G พร้อมกับคู่แข่งที่ยอมเข้าประมูล สะท้อนเป็น service revenue ex. IC ที่ไม่กลับมาเติบโตในปี 2563-64 ในระยะยาว DTAC มีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดต่อเนื่องหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ และต้องไปลุ้นกับความไม่แน่นอนของ timeline การจัดประมูลของกสทช. เนื่องจากการเติบโตของรายได้เป็นสมมติฐานสำคัญที่กระทบต่อการประเมินมูลค่าเหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญ เราประเมินราคาเหมาะสมที่ 55.00 บาทต่อหุ้น (DCF WACC 8.3%, Terminal Value 2%) หากรายได้ของ DTAC โตต่ำกว่าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

          กรณีที่ดีกว่า หากประมูลคลื่น 5G พอสมควร หาก DTAC เลือกประมูลคลื่น 5G หรือ คลื่น 2600MHz บางส่วน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและรักษาความสัมพันธ์กับ Regulator เช่น ลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท (อาจได้คลื่น 4-6 ใบ ขึ้นกับระดับการแข่งขัน) ก็น่าจะเพียงพอให้ DTAC เปิดบริการ 5G พื้นฐานได้ใกล้เคียงคู่แข่ง ส่งผลให้ DTAC ยังเติบโตไปพร้อมกับอุตฯ ขณะที่เงินลงทุนดังกล่าวจะกระทบราคาเหมาะสมราว 5.00 บาทต่อหุ้น (จากผลการได้ Grace period 5 ปีแรกจ่ายเพียง 10%) ทำให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 61.00 บาทต่อหุ้น (DCF WACC 8.3%, Terminal Value 2%) (อ่านเพิ่มบทวิเคราะห์วันที่ 29 ม.ค. 2563)

          TRUE: กำไรบางเกินไป ... การประมูลทำให้ต้องรอการกลับมาทำกำไรต่อไป

          คาดเข้าประมูลคลื่น 2600MHz เพียงความถี่ย่านเดียว ขณะที่จำนวนใบอนุญาตที่จะประมูลขึ้นกับกลยุทธ์ของผู้บริหาร หากเน้นการรักษาสภาพความเป็นผู้นำเช่นเดิม TRUE อาจลงทุนคลื่นรอบใหม่ที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท (อาจจะได้คลื่น 2600MHz 4-6 ใบอนุญาต ขึ้นกับการแข่งขัน) ค่าเสื่อมราคาต่อปีจะเพิ่มขึ้นราว 1.2 พันล้านบาท กระทบฐานกำไรปี 2563 ที่บางอยู่แล้ว อย่างมีนัยสำคัญ แต่ในแง่ของกระแสเงินสดจะกระทบราคาเหมาะสมราว 0.50 บาทต่อหุ้น จากราคาเหมาะสมเดิมที่ 5.70 บาทต่อหุ้น (DCF WACC 7.5% Terminal Value 1.5%)

          ในกรณีนี้ แม้ในแง่ราคาเหมาะสมจะมี upside พอสมควรและราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ P/BV เพียง 1.0 นอกจากนี้ TRUE ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะมีทางเลือกในการขายสัดส่วนของ DIF เพิ่มได้อีกมาก แต่การประมูลคลื่นเพิ่มจะหมายถึงการ turnaround ของกำไรปกติที่ต้องรออีก 1 ปี (ส่วนหนึ่งถูกกดดันด้วยมาตรฐาน TFRS16) ซึ่งหมายถึงปันผลที่ต่ำกว่ากลุ่มด้วยเช่นกัน ดังนั้น TRUE จึงต้องเล่นในลักษณะ laggard play ของกลุ่ม มากกว่าเป็นตัวเลือกหลัก

          แต่หากผู้บริหารเลือกแย่งส่วนแบ่งการตลาดในยุค 5G เหมือนอย่างการลงทุนในยุค 4G โดยเข้าประมูลคลื่น 10 ใบ โอกาสสูงมากที่จะเกิดการแข่งขันด้านราคาตามมา หากเข้ากรณีดังกล่าว แนะนำหลีกเลี่ยง TRUE รวมถึงผู้ประกอบการทุกรายไปก่อน จนกว่าจะประเมินผลกระทบได้

  ประเมินว่ามีโอกาสต่ำที่ TRUE จะเลือกทุ่มตลาด จากรอบกระแสเงินสดที่ตึงตัวในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ TRUE ต้องจ่ายชำระค่าคลื่นในอดีตและต้นทุนโครงข่ายรวมกันกว่า 6 หมื่นล้านบาท


**ราคาหุ้นในกลุ่ม ICT ปรับลงแรงก่อนการประมูล 5G ปี 2563  ... Downside น้อยแล้ว

          นับตั้งแต่วันที่ กสทช. ประกาศร่างประมูลคลื่นที่ยังไม่ผ่านประชาพิจารณ์ในวันที่ 12 พ.ย.62 ราคาหุ้นในกลุ่ม ICT ปรับลดลงราว 13% ราคาหุ้น ADVANC ปรับลดลง 13% DTAC ปรับลดลง 29% และ TRUE ปรับลดลง 24% ระดับราคาดังกล่าวรับความเสี่ยงการประมูลไปมากแล้ว 

          เชื่อว่าตลาดไม่อยากผิดพลาดเหมือนรอบการประมูลในปี 2559 ที่ผลการประมูลมี surprise ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงหนัก จึงมีการขายทำกำไรบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง ประกอบกับ ADVANC แพ้คดีใหญ่ในชั้นอนุญาโตฯ กับ TOT มูลหนี้ 3.1 หมื่นล้านบาท กระทบต่อ sentiment หุ้นตัวหลัก ก่อนเข้าประมูลคลื่น 

  

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X