> SET > BCP

09 พฤษภาคม 2024 เวลา 13:33 น.

BCP กำไร 2,437 ล้านบาท โรงกลั่นศรีราชาผลิตเด้ง

#BCP #ทันหุ้น - BCP กำไรไตรมาส 1/2567 ที่ 2,437 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 11% เทียบปีก่อน แต่พลิกบวกจากขาดทุนไตรมาส 4 กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันสร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นมาตรฐานระดับโลกกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน ชี้ค่ากลั่นฟื้น เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นบางจากศรีราชาต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจการตลาดมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร ส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดย OKEA ASA สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งผลิต Statfjord และแหล่งผลิต Hasselmus



บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 มีกำไร 2,437 ล้านบาท ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) นับว่าโดดเด่น เนื่องจากพลิกมีกำไร จากที่ไตรมาส 4/2566 ขาดทุน 977 ล้านบาท  เป็น EBITDA รวม 15,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 


โดยบริษัทมีรายได้จาการขายและให้บริการ จำนวน 135,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% YoY แต่ลดลง 5% QoQ สำหรับกลุ่มโรงกลั่นและการค้าน้ำมันมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายไตรมาสเป็น 271.7 KBD เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำลังการผลิตเฉลี่ย 127.7 KBD ขณะที่ไตรมาส 4/2567 มีกำลังผลิตเฉลี่ย 240.2 KBD มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 92% โดยค่าการกลั่นพื้นฐานอยู่ที่ 6.08 US/BBL เทียบไตรมาส 4/2566 ที่อยู่ที่ 4.65 US/BBL ขณะที่ไตรมาส 1/2566 ค่าการกลั่นพื้นฐานอยู่ที่ 11.44 US/BBL  


โดยกลุ่มโรงกลั่นและน้ำมันได้รับแรงหนุนหลักจากโรงกลั่นบางจากที่มีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 271.7 KBD มาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่า 150 KBD ของโรงกลั่นศรีราชา 


กลุ่มธุรกิจการตลาด สร้างสถิติใหม่ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางที่ 3,541 ล้านลิตร เติบโต 5% QoQ และ >100% YoY จากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุมกว่า 2,217 สถานีทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลยุทธ์การตลาดที่ผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากสถานีบริการภายใต้การดำเนินงานของ BSRC หลังการปรับปรุงภาพลักษณ์เป็นแบรนด์บางจาก 


ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายใน Q1/2567 เพิ่มขึ้นถึง 149 Q0Q และ 53% YoY จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก บริษัท บางจากศรีราชา จำกัด (มหาชน) 


สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด EBITDA เติบโตขึ้น 35% Q0Q และ 66% Yo โดยหลักจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก็ชธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของแหล่งผลิต Statfjord ที่ได้เข้าถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 66 และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่ม COD ในเดือน ต.ค. 66


อย่างไรก็ตาม ใน Q1/2567 มีการรับรู้ขาดทุนจากกรต้อยค่ของแหล่งผลิต Statfjord เนื่องมาจากปริมาณการผลิตในปี 2567 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2566 แต่ปริมาณปิโตรเลียมที่ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ (Dry Well) โดยเมื่อคำนวณสุทธิตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นคิดเป็นจำนวนงินประมาณ 401 ล้านบาท 


แต่กระนั้นก็ตาม มีการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์หลังหักภาษีของแหล่งผลิต Yme ประมาณ 35 ล้านบาท จากราคาน้ำมันคาดการณ์ล่วงหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถชดเชย

ผลกระทบจากการด้อยค่าของแหล่งผลิต Statfjord ได้บางส่วน ส่งผลให้มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท (+>100% QoQ, -11% YoY คิดเป็น กำไรต่อหุ้น 1.68 บาท


@เพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นศรีราชาต่อเนื่อง 



ภายหลังจากการได้มาซึ่งบริษัทบางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ("BSRC") กลุ่มบริษัทบางจากได้สร้าง Synergy และการพัฒนาPlatforms for Growth เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง ใน Q1/2567 โรงกลั่นศรีราชาสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 119 KBD สู่ 150 KBD ด้วยอัตรากำลังการผลิตที่สูงถึง 86% ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตเฉลี่ยรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโรงกลั่นศรีราชา บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยของโรงกลั่นศรีราชาให้เป็น 155 KBD ภายในปีนี้ 


นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานในการจัดหาและขนส่งน้ำมันดิบ อาทิ การรับเรือบรรทุกน้ำมันดิบประเภท Suezmax ขนาด 950.,000 บาร์เรล เป็นครั้งแรก และการปรับกลยุทธ์การขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นพระโขนงผ่านทางท่อจากกรุงเทพฯ ไปยังลูกค้า ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง


นอกจากนี้ ทางโรงกลั่นศรีราชายังสามารถใช้ท่อขนส่งน้ำมันของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งช่วยลดตันทุนในการขนส่งของกลุ่มบริษัทบางจาก


ธุรกิจการตลาดของกลุ่มบริษัทเน้นการผลักดันการจำหน่ายผ่านหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการผ่านสถานีบริการให้แก่ลูกค้าผ่านสถานีบริการกว่า 2,217 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการและปรับเปลี่ยนแบรนด์ของสถานีบริการ BSRC เป็นแบรนด์บางจาก ซึ่งใน Q1/2567 มีการเปลี่ยนแปลงสถานีบริการแล้ว 332 สถานี (รวมสถานีบริการที่เปิดใหม่) ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า ส่งผลให้แบรนด์บางจากมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นจากยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 29.2% (จาก 28.8% ณ สิ้นปี 2566 อีกทั้งมีการรับรู้ผลประโยชน์ร่วมกันผ่านการสนับสนุนด้านการบริหารงาน (Shared Senvice) และลดค่าใช้จ่ายในส่วนงาน Back office อาทิ ระบบบัญชี ระบบทรัพยากรบุคคล ระบ IT เป็นต้น โดยใน Q1/2567 กลุ่มบริษัทได้เริ่มรับรู้ Synergy จากผลการดำเนินงานแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท


ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทบางจากมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy (ก่อนหักภาษี) ไม่น้อยกว่า2,500 ล้านบาท ในปี 2567 และไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ในปีถัดๆ ไป


@SAF ผลิต Q2/2568


สำหรับความคืบหน้าในการเข้าลงทุนธุรกิจใหม่ หน่วยผลิตน้ำมันอากาสยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ซึ่งกลุ่มบริษัทบางจากเป็นผู้บุกเบิกรายแรกในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ใช้งบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายใน Q2/2568 และเพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดหาวัตถุดิบหลักในการผลิต SAF บริษัทฯ ได้มีโครงการ 'ทอดไม่ทิ้ง' ในการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วผ่านสถานีบริการของบางจากฯกว่า 162 สถานีทั่วประเทศ และกำลังเพิ่มจำนวนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 


นอกจากนี้ ทางด้านการขาย SAF กลุ่มบริษัทบางจากได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับคอสโม ฮอยล์ และชูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในการรับซื้อ SAF ซึ่งผลิตโดยบางจากฯ อีกทั้งยังร่วมมือกับ ชูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในการจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว มาสู่การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(UCO-to SAF) ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพต่อไป



@ Q2 เผชิญค่ากลั่นลด ปิดซ่อมบำรุง

 นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2567 มีหลายประเด็นที่ต้องคอยจับตามอง ได้แก่ค่าการกลั่นที่ลดลงจากการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลก การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นพระโขนง และอุปสงค์ที่ลดลงตามฤดูกาล ซึ่งบริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน และจะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ทศวรรษที่ 5 ในปี 2567 ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยยึดมั่นในจุดยืนในการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions อย่างยั่งยืน


นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2567 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้


กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นน้ำมันมาตรฐานระดับโลกรวมกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยหลักมาจากโรงกลั่นศรีราชาสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ 150,300 บาร์เรลต่อวัน (จากระดับ 119,300 บาร์เรลต่อวัน) ถือเป็นกำลังการผลิตเฉลี่ยรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโรงกลั่นศรีราชา  ขณะที่โรงกลั่นพระโขนง ยังคงรักษากำลังการกลั่นที่ระดับสูง 121,400 บาร์เรลต่อวัน  ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก  4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4 ปี 2566 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐฯ) และการรับรู้ Inventory Loss ลดลง ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCPT เติบโตจากการจัดหาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ให้กับโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง และการเพิ่มช่องทางซื้อขาย รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ๆ ทำให้มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากไตรมาสก่อนหน้า


กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566  เติบโตจากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม 2,217 สถานีทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลยุทธ์การตลาดที่ผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากสถานีบริการภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ซึ่ง ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สถานีบริการภายใต้การบริหารของ BSRC ได้เปลี่ยนเป็นแบรนด์บางจากแล้วเสร็จ 332 สถานี ส่งผลให้แบรนด์บางจากมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.2 (จากร้อยละ 28.8 ณ สิ้นปี 2566)


กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสแรกปี 2567 มี EBITDA 1,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากไตรมาสแรกปี 2566


กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มี EBITDA 284 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566 ปัจจัยหลักจากยอดขายที่สูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ BSRC 


กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA รวม 7,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาสแรกปี 2566 สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของแหล่งผลิต Statfjord ที่ OKEA ASA ได้เข้าถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566  และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2566 อย่างไรก็ตาม Statfjord มีปริมาณการผลิตในปี 2567 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนสุทธิกับรายการกลับรายการด้อยค่าของ Yme คิดเป็นขาดทุนจากการด้อยค่าหลังหักภาษีตามสัดส่วนประมาณ 366 ล้านบาท

รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X