> SET > PSH

26 เมษายน 2024 เวลา 16:06 น.

PSH เพิ่มวงเงินขายหุ้นกู้เป็น 4.5 พันลบ. 'ทริส'จัดเรทติ้งที่A-

#PSH#ทริสเรทติ้ง#ทันหุ้น -PSH เพิ่มวงเงินขายหุ้นกู้ชุดใหม่เป็น 4.5 พันล้านบาท จากเดิม 4พันล้านบาท  ทริสจัดเรทติ้ง A-แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” แทนอันดับเรทติ้งที่จัดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.67


ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4.5 พันล้านบาทของ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ PSH  ที่ระดับ “A-” โดยอันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดใหม่ใช้ แทนอันดับเครดิตหุ้นกู้เดิมที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เนื่องจาก บริษัทมีความประสงค์ที่จะเพิ่มวงเงินรวมของหุ้นกู้เป็น 4.5 พันล้านบาท จากเดิม 4 พันล้าน บาท 


โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่อาจเพิกถอนได้โดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ที่ระดับ “A-/Stable” ทั้งนี้ หุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวมีสิทธิเท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้ไม่ด้อย สิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัทตั้งใจจะนำเงินที่ได้จากการออก หุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวไปใช้ทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคม 2567 และ/ หรือสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มี การค้ำประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” 


อันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98.23%นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึง รายได้จากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทด้วย บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทมีสถานะเป็น “บริษัทย่อยหลัก” (Core Subsidiary) ของบริษัทตาม “เกณฑ์การ จัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” ของทริสเรทติ้ง 


สถานะเครดิตของบริษัทเกิดจากความแข็งแกร่งของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทในฐานะที่เป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยเป็นสำคัญ โดยที่ความได้เปรียบ ในการแข่งขันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทนั้นมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีสินค้าที่อยู่อาศัยที่ ค่อนข้างหลากหลายตลอดจนการมีแบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดระดับราคาปานกลาง จนถึงต่ำ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท รวมถึงภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพออีกด้วย 


อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่ารายได้และผลกำไรในอนาคตของบริษัทจะยังคงมีความท้าทายจากการ แข่งขันที่รุนแรงและสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยซึ่งเป็นผลมา จากการกลับมากำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value – LTV) อีกครั้งในปี 2566 ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 


รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2566 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดย เหลือ 2.52 หมื่นล้านบาทและคิดเป็น 85% ของประมาณการเต็มปีของทริสเรทติ้ง อันเป็นผล มาจากอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงต่ำ แม้ว่าบริษัทจะมี อัตรากำไรขั้นต้นที่น่าพึงพอใจ แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้กำไรก่อน ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลง 30% เมื่อเทียบ กับปีก่อนหน้าโดยลดลงมาอยู่ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของประมาณการณ์เต็มปีของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ กำไรสุทธิของบริษัทลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่จำนวน 2.2 พันล้านบาทในปี 2566


ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของธุรกิจทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.9-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567- 2568 โดยบริษัทจะมีอัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับประมาณ 17% และคาดว่ารายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทจะยังคงมาจากธุรกิจ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยต่อไปซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายได้และกำไรทั้งหมดของบริษัทในช่วงปีประมาณการ ในขณะที่รายได้ จากธุรกิจโรงพยาบาลและการลงทุนเชิงกลยุทธ์น่าจะยังคงมีไม่มาก ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจโรงพยาบาล บริษัทจึงน่าจะต้อง ใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อสร้างความยอมรับในตลาดและสร้างผลกำไรที่มีนัยสำคัญจากธุรกิจนี้


ทริสเรทติ้งประเมินว่านโยบายการลงทุนของบริษัทมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนที่มีขนาดใหญ่และจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2566 มูลค่าเงินที่บริษัทได้ลงทุนไปในหลายกิจการอยู่ที่จำนวน 9.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการ ธุรกิจใหม่ ๆ ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและสร้างผลกำไรได้ตามเป้าหมายนั้นยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ในขณะที่การลงทุนของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นั้นยังส่งผลให้สถานะเครดิตของกลุ่มบริษัทมีความเสี่ยงด้านการลงทุนที่สูงขึ้นอีกด้วย 


ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยในช่วงระหว่างปี 2567-2568 โดยบริษัท จะใช้เงินกู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับแผนการขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและธุรกิจโรงพยาบาล รวมถึงใช้ลงทุนในกองทุนของ บริษัทต่าง ๆ และในบริษัทร่วมทุน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30%-40% ใน ระหว่างปี 2567-2568 จากระดับ 22% ในปี 2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA นั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5-5.5 เท่าในช่วงปี ประมาณการจากที่ระดับประมาณ 4 เท่าในปี 2566 เมื่อพิจารณาตามงบการเงินรวมของบริษัทแล้ว 


ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือน ธันวาคม 2566 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้อีกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567 จะอยู่ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาทและบริษัทยังมีที่ดินที่ ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีที่จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอวงเงินกู้ยืมใหม่ได้ในกรณีที่จำเป็นได้อีก ด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 7 พันล้านบาท เงินกู้ ระยะสั้นจากธนาคารจำนวน 3.5 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 700 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 82 ล้านบาท 


หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทซึ่งอยู่ที่จำนวน 5.9 พันล้านบาทนั้นเป็นหนี้ของบริษัทย่อยต่าง ๆ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการ ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทจึงมีสัดส่วนอยู่ที่ 37% แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะน้อยกว่าระดับ 50% แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่า หุ้นกู้ของบริษัทจะได้รับการค้ำประกันจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เนื่องจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทหรือบริษัทย่อยอื่น ๆ อาจมีการก่อหนี้ เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต


เงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้และเงินกู้จากธนาคารกำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2566 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 0.4 เท่า ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้อง กับเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า


สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายโดยอยู่ ภายใต้สมมติฐานที่การลงทุนจำนวนมากจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ และทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะ รักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้อยู่ที่ระดับ 4.5-5.5 เท่าได้ในช่วงปีประมาณการ

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X