> เคล็ดลับลงทุน >

09 เมษายน 2024 เวลา 13:46 น.

ไกลแค่ไหนคือใกล้ (How Far is “Not Far”)

#Investment-Focus by KTAM ภาพรวมตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ค่อนข้างโดนฉุดรั้งจากประเด็นเงินเฟ้อที่ยังสูง แต่ในช่วงท้ายเดือนตลาดปรับตัวขึ้นจากความชัดเจนของธนาคารกลางทั้งฝั่งญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งผลการประชุมออกมาตรงความคาดหมายของตลาด และปรับตัวขึ้นต่อในหลายๆ ตลาด


เดือนมี.ค. ถือว่าเป็นเดือนที่ค่อนข้างผันผวน โดยประเด็นสำคัญคงหนีไม่พ้นการประชุม Fed และ BoJ ในช่วงปลายเดือน  ส่วนระหว่างทางมีปัจจัยเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบตลาดในรายประเทศ ทั้งฝั่งอินเดียที่หน่วยงานกำกับดูแลเริ่มเข้มงวดกับการกำกับดูแลการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Mid-Small มากขึ้น สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์นั้น  กับฝั่งเวียดนามมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดี


ในส่วนของปัจจัยทางเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ตลาดผันผวนกับตัวเลข PCE ที่ค่อนข้างสูง ตัวเลขภาคบริการที่แย่กว่าที่คาดกับภาคแรงงานที่ตัวเลขค่อนข้างคลุมเครือ แต่ก็ได้แถลงของประธาน Fed ต่อรัฐสภาว่าการลดดอกเบี้ยอยู่ไม่ไกล (“Not Far”) ช่วยเพิ่มความหวังในตลาดขึ้นมาบ้าง 


ผลการประชุม Fed ในช่วงปลายเดือนออกมาตรงกับความคาดหวังของตลาด มุมมอง Dot Plot ที่ยังคงคาดว่าดอกเบี้ยจะปรับลดลง 3 ครั้ง หรือ 75bps เหมือนเดิม ทำให้ตลาดตอบรับในเชิงบวกปรับตัวขึ้นต่อจากเดือนก่อนหน้า ในฝั่งของญี่ปุ่นผลการเจรจาค่าจ้างออกมาค่อนข้างดีและสนับสนุนมุมมองการเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ BoJ ก็มีการยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) และ Yield Curve Control (YCC) แต่ยังทำ QE อยู่ และไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ จึงเป็นภาพที่ดีต่อญี่ปุ่น


ในส่วนของตลาดหุ้นจีนยังไม่ได้มีประเด็นเพิ่มเติมในเรื่องนโยบายกระตุ้นหลังจากผลการประชุม Politburo ก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะออกนโยบายขนาดใหญ่ และในส่วนของด้านการค้าก็เริ่มเห็นภาพของสงครามการค้าที่เริ่มปะทุขึ้นมาอีกรอบ  ส่วนของไทยมีความคืบหน้าในด้านงบประมาณ ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นขั้นตอนต่างๆ มาให้ใช้ได้เร็วๆ นี้


ตลาดหุ้นในช่วงเดือน ก.พ. มี Momentum ที่ดี ปรับตัวขึ้นต่อจากผลประกอบการของ บจ. ออกมาดีต่อเนื่อง แต่พอมาในเดือน มี.ค. กลับสะดุดตัวลงตั้งแต่ต้นเดือนจากประเด็นด้านเงินเฟ้อ และรอผลการประชุมของธนาคารกลางหลายๆ แห่ง  แต่สุดท้ายก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ในรอบรายเดือน (MTD) จากมุมมองดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายๆ แห่งที่ยังไม่ปรับตัวลดลงในเร็วนี้ๆ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนสินทรัพย์เสี่ยง 


โดยในเดือน มี.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลก (ACWI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% ส่วนใหญ่เป็นแรงส่งจากกลุ่ม DM (MSCI World) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนกลุ่ม EM ก็ยังประคองตัวได้ดีไม่แพ้กัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2%  ในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือก ราคาพลังงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อในเดือน มี.ค. WTI ปรับตัวขึ้น 6.3% ทำให้ Sector กลุ่ม Energy ปรับตัวขึ้น 7.9% ให้ผลตอบแทนสูงสุดในเดือนนี้


ในส่วนของกลุ่ม DM ตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวนช่วงต้นเดือน หลังจากหมดแรงหนุนช่วงประกาศงบฯ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ตึงตัว แต่ก็ปรับตัวขึ้นได้จากความกังวลที่เบาลงไปหลังผลการประชุม Fed และ Dot Plot ที่ออกมาตามที่ตลาดคาดไว้ โดย NASDAQ เพิ่มขึ้น 1.8% ซึ่งน้อยกว่า S&P500 ที่เพิ่มขึ้น 3.2% 


ฝั่งยุโรปตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแอ แต่ได้ความชัดเจนขึ้นจาก ECB ว่าใกล้ลดดอกเบี้ยและแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลง โดย Stoxx50 เพิ่มขึ้น 4.3% ส่วน Stoxx600 เพิ่มขึ้น 4.0% ในฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei225 ที่น่าจะเป็นตัวเอกสำหรับเดือนนี้ ทำ New High เพิ่มขึ้น 3.8% จากตัวเลขค่าจ้าง, GDP และผลการประชุม BoJ (ที่มา: Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 67)


กลุ่ม EM เริ่มจากจีน ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมายังคงดีอยู่ แต่ Sentiment ในตลาดหุ้นเริ่มแผ่วลง การปรับตัวขึ้นเริ่มชะลอลง และในเชิง Technical ยังติดแนวต้านที่ต้องทะลุไปให้ได้ โดยตลาดหุ้นจีนทั้ง CSI300 และ Hang Seng ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%ทั้งสองตลาด ส่วนเวียดนามสะดุดชั่วคราวจากประเด็นการเมืองแต่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ โดย VN30 Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% 


ขณะที่ตลาดอินเดียมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นในหุ้นขนาด Mid-Small ทำให้ SENSEX มีแรงขายบ้างจากความกังวล โดยทั้งเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% 


สำหรับตลาดหุ้นไทย นโยบายเศรษฐกิจดูเข้าที่เข้าทางมากขึ้น มีกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น  ส่วนนโยบายการเงินในมุมมองนักวิเคราะห์เริ่มเสียงแตก มีทั้งลดดอกเบี้ยตั้งแต่รอบ เม.ย., มิ.ย. หรือไม่ลดเลย โดย SET Index ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ (Side way) และมีแนวต้านสำคัญที่ 1,400 จุด โดยทั้งเดือน SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% (ที่มา: Bloomberg และ SET, ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 67)


ความกังวลเรื่องดอกเบี้ยเริ่มคลี่คลาย การลดดอกเบี้ยในปีนี้ดูจะเป็นเรื่องแน่นอนขึ้น เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง คาดว่าความผันผวนในตลาดหลังจากนี้คงน้อยลงจนกว่าธนาคารกลางจะเริ่มลดดอกเบี้ยจริงจัง ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงมี Momentum ที่ดี เราจึงมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงปรับตัวขึ้นต่อแต่อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่มากเหมือนช่วงก่อนหน้านี้


สำหรับตราสารทุนต่างประเทศ แม้ตลาดยังปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่ด้วยการเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยที่ใกล้เข้ามาแล้วในบางประเทศ อาจทำให้ตลาดไม่ได้มีช่องว่างสำหรับปรับตัวขึ้นต่อมากเท่าไหร่ เราจึงยังคงมุมมองแค่ “เป็นกลาง” แต่มีมุมมอง “เชิงบวก” สำหรับตลาดหุ้นไทยที่งบประมาณใกล้กระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว และผลตอบแทน YTD ยังห่างไกลจาก Earning Growth ปีนี้อยู่มาก ยังมี Upside ค่อนข้างมาก 


ในส่วนของตราสารหนี้ในประเทศ Yield ปรับตัวลดต่ำลงจากความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย ทำให้เรามีมุมมอง “เป็นกลาง” สำหรับตราสารหนี้ในประเทศ ขณะที่ดอกเบี้ยของต่างประเทศน่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี จึงมีมุมมอง “เชิงบวก” สำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ


ดยพอร์ตการลงทุนเดือนนี้มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบางส่วนให้มีการ Diversified มากขึ้น จากการลดสัดส่วนหุ้นจีนเล็กน้อยโดยไปเพิ่มการลงทุนใน KT-ASIAG-A ซึ่งมีหุ้นจีนในสัดส่วนที่น้อยกว่า และมีการกระจายลงทุนในประเทศอื่นๆ ในเอเซีย ด้วย


รวมถึงเปลี่ยนจากการลงทุนใน KT-WTAI มาลงทุนใน KT-US แทนจากความกังวลในเรื่องดอกเบี้ยที่ผ่านพ้นไปแล้ว กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังโต และหุ้น Tech ที่น่าจะ Performed ลดลงหลังผ่านช่วงประกาศงบไปแล้ว


คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM

โดย :ดร. สมชัย อมรธรรม

วัชรพัฐ มาแสง

บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X