> ประกัน >

28 มีนาคม 2024 เวลา 22:43 น.

ประกันภัยรถรับมือโจทย์ใหม่ ย้ำธุรกิจปรับฝ่าความท้าทาย

#TGIA #ทันหุ้น สมาคมประกันวินาศภัย ฉายภาพความท้าทายของธุรกิจประกันภัย ทั้งจากเรื่องของเทคโนโลยี โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ให้ทันต่อความต้องการ และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป


ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย หรือ TGIA กล่าวว่า ธุรกิจประกันวินาศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และความผันผวนต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมที่จำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น การมาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่แม้ไม่ได้เกิดขึ้นใกล้ประเทศไทยก็ก็เลี่ยงในผลกระทบไม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์


* โจทย์ท้าทายประกันรถ

การมาของเทคโนโลยี แทรกซึมเข้าไปทุกภาคส่วนของระบบธุรกิจประกันวินาศภัย เช่นประกันรถยนต์ ที่วันนี้เริ่มเห็นการนำระบบออโตไพลอต (Autopilot) มาใช้ในยานยนตร์เพื่อขับขี่โดยที่มนุษย์ไม่ต้องควบคุมพวงมาลัย ประเด็นคือ หากเกิดอุบัติเหตุ ความผิดจะเป็นของผู้ขับขี่ เจ้าของรถ ระบบ หรือผู้ผลิตยานยนต์ นั่นคือโจทย์ใหม่ของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ต้องก้าวตามให้ทันเมื่อระบบการควบคุมเปลี่ยนไป


ดร.สมพร มองอีกว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันประกันอัคคีภัย อาจคุ้มครองแค่ตัวทรัพย์สิน หากในอนาคตอาจขยายความคุ้มครองไปถึงสมาชิกที่อาศัยอยู่ในบ้าน รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย ดังนั้นแบบประกันจะมีความซับซ้อนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง


“ทุกวันนี้ประกันอัคคีภัยยังมีช่องให้ภาคธุรกิจเข้าไปขยายตลาดได้อีกมาก เนื่องจากประกันอัคคีส่วนใหญ่จะผูกกับสินเชื่อบ้าน และสำหรับบ้านที่ไม่ได้กู้ก็จะไม่ได้ทำประกันอัคคีภัยไว้ ดังนั้นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาแบบประกันให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า” ดร.สมพร กล่าว


*โครงสร้างสังคมเปลี่ยน

ดร.สมพร มองว่า แบบประกันภัยใหม่ๆจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดทอนความกังวลของผู้ซื้อ ด้วยรูปแบบของโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องสังคมสูงวัย แต่รูปแบบครอบครัวก็มีหลากหลายมากขึ้นในสังคม เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว LGBTQ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละรูปแบบครอบครัวก็จะมีความต้องการที่ต่างกัน เช่น ในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว อาจกังวลในเรื่องของการเครื่องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย


ประเด็นตรงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย เริ่มเข้าไปจับมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อที่จะสามารถเสริมบริการให้กับลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ได้ ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ต่างกัน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยในอนาคตจึงเป็นมากกว่าประกันภัย ไม่ใช่แค่ให้ความคุ้มครอง จ่ายสินไหม แต่สามารถมอบบริการที่ช่วยให้ลูกค้าหมดทุกความกังวลได้ด้วย


สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2567 สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดว่า ธุรกิจยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 5-6% ด้วยตัวเลขเบี้ยรับโดยตรง 301,050-303,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4 -5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,080-287,800 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการประกันภัยรถไฟฟ้า (EV) การประกันภัยสุขภาพ และการประกันภัยการเดินทางที่มีผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว


โดยปัจจัยหลักๆ มาจากตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ไม่ได้มีแต่ผู้เล่นที่เป็นผู้ประกอบการจากจีนเท่านั้น หากญี่ปุ่น หรือยุโรปก็เริ่มสนใจเข้ามาเล่นในตลาดนี้ โดยปี 2567 สมาคมประกันวินาศภัยคาดว่าจำนวนรถEV จะออกสู่ใหม่ราว 100,000 คัน ซึ่งก็จะสนับสนุนการเติบโตของเบี้ยประกันรถยนต์ในปี 2567 ให้เติบโตเพิ่มขึ้นด้วย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X